“อนุทิน” บี้เอาผิดปลอมลายเซ็นวิศวกร อ้างส่ง ๆ มาแล้วก็เซ็น ๆ ไปตามความเป็นวิชาชีพทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด เผยความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคาร สตง. ถล่ม กรณีใช้เวลา 90 วัน มาจากข้อเสนอผู้เชี่ยวชาญ เป็นเรื่องเทคนิควิศวกรรม ได้ผลแล้วต้องไร้ข้อโต้แย้ง พร้อมเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท ทยอยมอบผ่านผู้ว่าฯจังหวัดต่างๆ
วันที่ 17 เม.ย.2568 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่ม ว่า ขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้วางกรอบไว้หมดแล้ว และได้มีการรายงานให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงรายงานตนเองว่า ตอนนี้พอจะทราบหนึ่งในสาเหตุ ซึ่งตรงกับที่ทาง ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และต่างคนต่างใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์คำนวณหาสาเหตุ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ก็ต้องคำนวณในเชิงลึกเพื่อให้เกิดความมั่นใจและไม่มีข้อสงสัย ไม่มีการโต้แย้ง อันเป็นเรื่องของทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้การคำนวณหลักทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ไม่ได้ใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจ
“ตอนนี้เราไปดูเรื่องการออกแบบก่อน เพราะมีเรื่องการออกแบบที่มันไม่สมมาตร (อสมมาตร) ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นอกจากจะเกิดการแกว่งของตัวตึกแล้ว พอการออกแบบอาคารไม่สมมาตรก็ทำให้เกิดแรงบิดด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นเราต้องไปดู Safety Factor ว่าได้ออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ทนต่อแรงบิด แรงเฉื่อย ตามหลักวิศวกรรมตามกฎหมายหรือไม่”นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องของสาเหตุตึกถล่มในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนเรื่องการกระทำผิด เรื่องฮั้ว เรื่องการทุจริต เรื่องการประมูล ไม่ใช่หน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองโดยคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบและสรุปข้อมูลเพื่อที่จะส่งไปให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้รับทราบ เพื่อไปดำเนินการต่อ ซึ่งคนที่เป็นคณะกรรมการฯ นั้น ท่านเป็นอาจารย์ เป็นนายกสภาวิศวกร เป็นกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ทั้งหมด ดังนั้น เป็นเรื่องทางเทคนิค เมื่อคณะกรรมการฯ ขอเวลา 90 วัน สิ่งที่เราจะต้องขอร้องก็คือ มีทางที่ทำให้เร็วขึ้นไหม ซึ่งท่านเหล่านั้นยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถ้าออกแล้วมันต้องไม่มีข้อโต้แย้ง ผิดก็ต้องผิดเลย ไม่มีการเอาไปดูว่าผิดไหม ซึ่งเขามีการตรวจสอบคำนวณเชิงลึกแยกตามสถาบันด้วย ต่างคน ต่างคำนวณ แล้วจึงมาประชุมสรุปร่วมกัน กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถไปก้าวก่าย ไปล่วงละเมิดได้
“การปลอมแปลงเอกสารตามที่ติดตามข่าวจากสื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ ผมในฐานะเป็นวิศวกรคนหนึ่งฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องวิชาชีพ เหมือนกับแพทย์ที่ไปออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามความจริง มันผิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งการปลอมแปลงลายเซ็นต์เป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดี ผมจะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมืองมาหารือว่าได้มีการควบคุมเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ เช่นสภาวิศวกรที่เป็นคนออกใบอนุญาต (License) วิศวกร ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ามีการปลอมลายเซ็นต์หรือปลอมแปลงเอกสารที่เป็นไปตามในข่าวจริง การที่ระบุว่าส่ง ๆ มาแล้วก็เซ็น ๆ ไป อย่างนั้นไม่ใช่ความเป็นวิชาชีพ ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด การจะเซ็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการต้องใช้ License ใบอนุญาตต่าง ๆ ก็ต้องมีความเข้มงวด และได้รับการปฏิบัติด้วยตนเอง”รมว.มหาดไทย กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เสนอ ยกเว้นหลักเกณฑ์รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหว และได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่าน ปภ. โดยเป็นเงินค่าช่วยเหลือทำศพและช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตกรณีเหตุแผ่นดินไหวรายละ 100,000 บาท จากเดิมรายละ 20,000 กว่าบาท โดยขณะนี้ ปภ. ได้ประสานญาติของทุกครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันพรุ่งนี้ หลังจากจบการประชุมปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปภ. จะได้มีการมอบเงินเยียวยาดังกล่าวให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ในส่วนต่างจังหวัดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้มอบต่อไป
“เงินในส่วนนี้เป็นเพียงส่วนเดียว แต่ผู้ได้รับความเสียหายก็ต้องได้รับเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ อีก เช่น เงินประกันทั้งจากผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมา และจากประกันสังคม ที่เป็นสิทธิตามกฎหมาย และการเยียวยานี้ รวมไปถึงผู้บาดเจ็บที่ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ก็จะมีค่าชดเชยความเสียหายจากงบประมาณในส่วนนี้ด้วย อันเป็นความตั้งใจของทางรัฐบาลและทุกฝ่าย” นายอนุทิน กล่าว