วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 1, 2025
หน้าแรกNEWS“วิโรจน์” เผยสรรพากร รวบรวมข้อมูล ปมตั๋วพีเอ็น “นายกฯ” เข้าข่ายเลี่ยงภาษีแล้ว แต่ไร้คำตอบเสร็จเมื่อไร
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วิโรจน์” เผยสรรพากร รวบรวมข้อมูล ปมตั๋วพีเอ็น “นายกฯ” เข้าข่ายเลี่ยงภาษีแล้ว แต่ไร้คำตอบเสร็จเมื่อไร

“วิโรจน์” เผยสรรพากร รวบรวมข้อมูล ปมตั๋วพีเอ็น “นายกฯ” เข้าข่ายเลี่ยงภาษีแล้ว แต่ไร้คำตอบเสร็จเมื่อไร -กมธ.เศรษฐกิจ จ่อส่งหนังสือ จี้ “รมว.คลัง” ตั้งกก.วินิจฉัยภาษีโดยพลัน หลังพบองค์คณะขาดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมขู่ยกกรณี “หลุย เบญจา” เอาผิด “รมว.คลัง-อธิบดีสรรพากร” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หากดึงเรื่องสอบ นายกฯ

วันที่ 1 พ.ค.2568 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวาระพิจารณาติดตามเรื่องร้องเรียนกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรมและการชำระภาษีเกี่ยวกับการซื้อหุ้นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ  ซึ่งเข้าข่ายการหลบเลี่ยงเสียภาษีรับให้ ว่า ในการประชุมพบว่า นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ไม่ได้ร่วมประชุมแต่ได้ส่งผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง มาชี้แจงแทน ทั้งนี้ในการพิจารณาพบข้อมูลทที่น่าตกใจ คือ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ยังไม่ครบองค์ประกอบ เพราะขาดกรรมการ ส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน 3 คน ทั้งนี้การตั้งกรรมการส่วนดังกล่าวเป็นอำนาจของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ดังนั้น กมธ. ฯ เตรียมทำหนังสือถึงนายพิชัย ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว อย่างไรก็ดีกมธ.ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ แต่โดยปกติแล้วต้องทำโดยพลัน หากเป็นการทำหน้าที่โดยชอบ แต่หากดึงเวลาอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่าในการตรวจสอบกรณีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ ตั๋ว P/N หลังจากที่ซื้อหุ้นของคนในครอบครับและเครือญาติของ น.ส.แพทองธาร นั้น ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลางระบุว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะมีประเด็นของปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ คือ การไม่มาชี้แจงของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กมธ.ซักถามถึงขั้นตอน ทราบว่ากรณีที่เชิญบุคคลให้ชี้แจงแล้วไม่มา จะให้เวลา 15 วัน และหากไม่มาจะต่อเวลาอีก 15 วัน อย่างไรก็ดีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวถือเป็นอำนาจของกองตรวจสอบภาษีกลางที่จะดำเนินการได้ และเมื่อตรวจสอบแล้เสร็จจะส่งเรื่องให้คณะกรมการวินิจฉัยภาษีอากรตรวจสอบขั้นตอนต่อไป ส่วนสตง. ที่ร่วมชี้แจงต่อกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ  ได้ให้ข้อมูลกับกมธ.ว่า ไม่มีอำนาจตรวจสอบบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ทั้งนี้ สตง.มีหน้าที่ตรวจการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทราบว่าประเด็นตั๋วพีเอ็น หรือ ตั๋วเงิน นั้นไม่มีระเบียบหรือกติกาที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ว่าทำได้จริงหรือเป็นเพียงรูปแบบที่ใช้เป็นนิติกรรมอำพราง

“สตง. มีอำนาจตามกฎหมาย สตง. ในมาตรา 85 เพื่อส่งความเห็นไปยังกรมสรรพากรให้ดำเนินการออกระเบียบและการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมถึงเพื่อให้สามารถจัดเก็บส่วนของภาษีการรับให้ จากกรณีการออกตั๋วพีเอ็น หรือ ตั๋วเงิน ได้ และเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เสมอภาคถ้วนหน้า ทั้งนี้กรณีของนายกฯ ที่อาจบอกว่าเป็นการวางแผนภาษี แต่หากประชาชนคนอื่นเขาทำรูปแบบเดียวกัน กรมสรรพากรต้องให้สิทธิประชาชนคนอื่นทำด้วย ไม่ใช่ไล่บี้คนอื่นแต่ นายกฯกลับเพิกเฉย นอกจากนั้นแล้วผมมองว่าเมื่อมีช่องว่างให้ทำ แต่นากฯ ควรปิดช่องว่างที่จะทำให้ตนเองได้ประโยชน์” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ เตรียมทำหนังสือไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือ 1.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการใช้อำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรให้ครบองค์คณะ ซึ่งหากทำไม่ได้ก็จะนำไปสู่หลักฐานที่ชี้ว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ร้องต่อ ป.ป.ช.ได้  2. นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร  ถึงกรอบเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริง และจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรเมื่อไหร่ เช่นกรอบเวลาอย่างช้าที่สุด ที่จะนำไปร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ และถามว่า หากประชาชนใช้โมเดลของนายกรัฐมนตรี กรมสรรพากรจะไม่ไปกล่าวหาว่าประชาชนทำความผิดใช่หรือไม่ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และ3. นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำหนังสือ เพราะปัจจุบันกรมสรรพากรยังไม่มีระเบียบในการทำงานเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี กรณีใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นใด หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะเกิดความเสียหายต่อการจัดเก็บภาษีเสียหายต่อราชการ เสียหายต่อประชาชน

“กมธ.มีข้อเตือนใจไปยังข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่ด้วยว่า มีประเด็นที่เคยเกิดขึ้นกับ นางเบญจา หลุยเจริญ เมื่อครั้งทำหน้าที่ในกรมสรรพากรถูกพิพากษาจำคุกในคดีวินิจฉัยภาษีซื้อหุ้น และถูกลงโทษทั้งคดีอาญา และจำคุก หากทำหน้าที่ปกป้องสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีที่ตรวจสอบ น.ส.แพทองธารนั้น หากฝ่ายที่เเกี่ยวข้องประวิงเวลา อาจเท่ากับส่งสัญญาณปกป้อง หรือดึงเรื่องตรวจสอบน.ส.แพทองธาร ซึ่งอาจถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ต่อไป” นายวิโรจน์ กล่าว

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img