“จาตุรนต์” แจงไม่ใช่ไม่พูดคุยแค่ยังไม่ได้ตั้งคณะ “สันติสุขชายแดนใต้” หลังความรุนแรงคุขึ้น ขอไม่ก้าวล่วงกลยุทธ์ฝ่ายบริหาร ชี้สถานการณ์ซับซ้อน-ทับถมหลายสิบปี บอกจะสรุปว่าไม่มีการพูดคุยง่ายเกินไป! ย้ำถ้าเจรจาแล้วแก้ไขได้หมด จะถูกมอง ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน แล้วจะบังคับรัฐบาลได้ทุกอย่าง
วันที่ 7 พ.ค.2568 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาฯ กล่าวถึงความคืบหน้าของกมธ. ว่า ขณะนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่จะต้องทำรายงานให้เสร็จ มีการร่างเนื้อหาสาระของรายงานที่กมธ.ไปศึกษาที่ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และกำลังจะจัดทำข้อเสนอและข้อสังเกตที่ต้องเสนอต่อสภาฯเพื่อให้ส่งไปยังรัฐบาล ทั้งนี้ ทางกมธ.จะไม่เสนอเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ที่กมธ.ได้พูดคุยกันว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เป็นที่สนใจของประชาชน เราควรนำมาเป็นปัจจัยประกอบในการเสนอข้อสังเกต และเสนอทางออกในการแก้ปัญหาเกิดขึ้นให้จริง ไม่ใช่ทำไปแล้วยืดเยื้อ เรื้อรังไปเรื่อยอย่างที่ผ่านมา
นาจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้มองว่าเกิดจากอะไรนั้น ทางกมธ.เราศึกษาเรื่องเหล่านี้มากนานพอสมควรเพื่อจัดทำข้อเสนอในภาพรวมและหวังผลในการแก้ปัญหาระยะยาว จึงไม่ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง นอกจากจะเห็นประเด็นที่จะแนะนำรัฐบาลก็จะเสนอไป แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น กมธ.ไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้เนื่องจากเรากำลังจัดทำความเห็นในภาพรวม แต่ถ้าถามว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างไร เพราะอะไร เราจะพบว่ากรณีดังกล่าวเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่มีความรุนแรง ความไม่สงบเพิ่มมากขึ้น
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่พึ่งเกิดเป็นกรณีที่คล้ายกับกลายเหตุการณ์ คือไม่สามารถพิสูจน์หรือจับตัวคนร้ายได้ ทำให้ไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของใครต้องการอะไร แต่ความรุนแรงครั้งหลังๆนี้มีลักษณะพิเศษโดยเป็นการกระทำแบบไม่จำกัดเป้าหมาย หรือมุ่งไปที่ประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งเลย ซึ่งเลยไปถึงคนชราและเด็กเป็นต้น และเป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องให้ความสนใจพิเศษว่าเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น คนที่ทำเป็นใคร ต้องการอะไร แต่การเกิดความรุนแรงแบบนี้ ตนคิดว่าสังคมไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและเลวร้าย ซึ่งไม่จำกัดว่าเป็นการใช้ความรุนแรงแก่เด็กและคนชราเท่านั้น แต่เป็นการใช้ความรุนแรงต่อใครก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสมควรประณาม
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังมานี้ สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 20 ปีมานี้ เรายังแก้ปัญหาไม่ตก และการแก้ปัญหาไม่สำเร็จนี้ ไม่ได้แสดงออกทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจากที่กมธ.ศึกษามา การแก้ปัญหาไม่ตกยังแสดงออกในหลายด้านคือ 20 กว่าปีมานี้เราทุ่มเททรัพยากรมหาศาลลงไปในพื้นที่ ประมาณ4-5 แสนล้านบาท แต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโตช้าที่สุด กระบวนการยุติธรรมก็อ่อนแอ และหลายกรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถพิสูจน์ด้วยกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ จนทำให้ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์กับใครหรือฝ่ายไหน เราไม่มีระบบที่ทำให้สามารถเกิดความเชื่อถือว่าเป็นการกระทำของใคร ใครเป็นผู้กระทำผิด ทำให้อยู่กันด้วยความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจ นำไปสู่การแก้แค้น ตอบโต้กันไปมา สถานการณ์แบบนี้มีลักษณพิเศษคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่ามาถึงขั้นนี้สิ่งที่เราต้องดูคือเมื่อ 20 ปี มีการพยายามไปแก้ปัญหา ใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษถึง 3 ฉบับ รวมทั้งกฎอัยการศึก มีองค์กรระดับประเทศถึง 3 องค์กร ทั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีนายกฯเป็นประธาน และกำหนดนโยบายด้านต่างๆให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ใน 8 ปีมานี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับการทำหน้าที่ของสภาที่ปรึกษา แม้ขณะนี้จะยกเลิกคำสั่งนี้แล้ว แต่สภาที่ปรึกษาใหม่ก็เพิ่งตั้งขึ้น ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น ลดความหวาดกลัวคือการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มมาตรการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินประชาชน เพราะที่ผ่านมายังไม่เข้มแข็ง
เมื่อถามว่าฝ่ายตรงข้ามเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กและคนชรา มองว่ารัฐบาลไม่ชัดเจนเรื่องการเจรจาใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้เห็นต่างในทางลับมีมาตลอด ซึ่งการพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับผู้เห็นต่าง เกิดขึ้นในปี 56 ต่อเนื่องมา และยังคงอยู่ไม่ใช่ยกเลิก เพียงแต่การตั้งคณะพูดคุยตั้งโดยนายกฯ เมื่อเปลี่ยนนายกฯ ก็ต้องเปลี่ยนคณะพูดคุย ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่ยังไม่ตั้งคณะพูดคุย ส่วนการตั้งหรือไม่ตั้งเพราะสาเหตุอะไร กมธ.คงไม่ก้าวล่วงแต่อาจจะมีเหตุผลหรือกลยุทธ์ทางเทคนิคของฝ่ายบริหาร แต่โดยหลักแล้วการพูดคุยเป็นประโยชน์ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขัดแย้งกับรัฐได้หาทางออกโดยสันติวิธี แต่จะมีผลแค่ไหนหรือแก้ปัญหาได้หรือแไม่จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจากที่ดูการพูดคุยยังมีการจำกัดไม่ครอบคลุมถึงประชาชนจำนวนมากจึงไม่นำไปสู่ข้อสรุปในการแก้ปัญหา ฉะนั้น เราต้องช่วยกันหาทางแก้โดยทบทวนการใช้ยุทธศาสตร์ การใช้งบประมาณ และการบังคับใช้กฎหมาย
“การจะสรุปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าไม่พูดคุย ก็สรุปง่ายเกินไป เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซับซ้อนและสะสมมาหลายปี จะบอกว่าถ้าพูดคุยแล้วแก้ปัญหาทั้งหมดได้ บางคนก็จะบอกว่าอย่างนี้เอาประชาชนมาเป็นตัวประกันก็จะกลายเป็นบังคับรัฐบาลได้หมดจะเกิดปัญหา ฉะนั้น ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้การตั้งคณะพูดคุยควรจะเกิดขึ้นและเดินหน้าต่อไป รวมทั้งให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”นายจาตุรนต์ กล่าว