“จุลพงศ์” ชง กมธ.พาณิชย์-ต่างประเทศ ร่วมวงถกปัญหาภาษีทรัมป์ จ่อเชิญ 3 รมต.แจงด้วย ซัด “นายกฯอิ๊งค์” ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร หลังโพล่งดีลลับเจรจาภาษีทรัมป์ ชี้ รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน เปิดเผยแบบตรงไปตรงมา
วันที่ 7 พ.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส. พรรคประชาชนในฐานะรองประธานกรรมาธิการพาณิชย์ฯ และรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ (สภาผู้แทนราษฎร) แถลงว่าจากที่ผู้นำหลายประเทศแถลงต่อประชาชน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ต่อสถานการณ์ภาษีทรัมป์ ซึ่งไม่เพียงแถลงถึงปัญหา แต่ให้ประชาชนรับรู้แนวทางการแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรบ้าง ตนจึงกังวลถึงการรับมือการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลนี้ ยิ่งตนได้ฟังน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พูดในรายการรวมการเฉพาะกิจถึงวิธีการรับมือว่า รัฐบาลมีดีลลับ และขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องนี้ มองว่าไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารที่จะบอกประชาชนว่าเรากำลังเจออะไรในขณะนี้ และให้ประชาชนเตรียมตัวอย่างไร ตนคิดว่าที่นายกฯ พูดว่า มีดีลลับ มันไม่เพียงพอ สำหรับคณะผู้บริหารประเทศที่จะต้องสื่อสารต่อประชาชนให้มั่นใจกับรัฐบาลมากกว่านี้ และตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ เป็นวิกฤติที่จะลามไปถึงปากท้องของประชาชน ดังนั้นประชาชน จึงมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลที่มากกว่านี้
นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะ สส. รองประธานกรรมาธิการพาณิชย์ฯ และรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการพาณิชย์ฯ และประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ เพื่อขอเรียกประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 2 คณะ โดยให้เป็นการประชุมลับ เพื่อไม่ให้มีประเด็นข้อมูลความลับ โดยขอให้เชิญรัฐมนตรี 3 กระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาชี้แจงในคณะกรรมาธิการพาณิชย์ ในเรื่องการเตรียมเจรจาด้านภาษี และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สินค้าไทยที่จะส่งไปยังสหรัฐ ประชาชนควรเตรียมตัวอะไรบ้าง รวมถึงการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาชี้แจงในกรรมาธิการการต่างประเทศ ถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการช่วยเหลือคณะเจรจาของไทย และบทบาทของรัฐมนตรีว่ามีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศมาชี้แจง เพราะเห็นว่านิ่งมาก ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศควรจะมีบทบาทสำคัญ ในการเจรจากับสหรัฐ หรือเกรงว่าเพราะประสบปัญหาไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐได้
“หากคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ ได้รับคำชี้แจงจากรัฐมนตรีแล้ว กรรมาธิการก็จะมีความเห็นและแนวทางเพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากรัฐบาล พร้อมเสนอความเห็นดังกล่าวผ่านรัฐมนตรีที่มาชี้แจงต่อไป ซึ่งเมื่อเดือนก.พ.-มี.ค.กรรมาธิการพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ มาชี้แจงถึงผลกระทบและมาตรการการรับมือการขึ้นภาษี ที่เชิญมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานของรัฐ เพราะปัญหาส่วนใหญ่เป็นระดับนโยบาย เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่มาชี้แจง จึงไม่สามารถตอบคำถามได้”นายจุลพงศ์ กล่าว
นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรรมาธิการพาณิชย์ ยังเคยมีมติในที่ประชุมให้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดมาตรการรองรับภาษีนำเข้าจากสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากทั้ง 2 คน ดังนั้น เหตุผลที่ตนได้ขอให้เชิญรัฐมนตรีทั้ง 3 คน มาชี้แจงเพราะรัฐรัฐบาลเอง ไม่เคยชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศมีอะไรบ้าง หรือรัฐบาลได้เตรียมรับผลกระทบอย่างไร ประชาชนควรเตรียมรับมืออย่างไร เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งประชาชนในภาคการผลิตและส่งออกไม่ทราบ ถึงมาตรการที่รัฐบาลได้วางแผนรับมือไว้ ทั้งที่ระยะเวลาการผ่อนผันภาษีนำเข้า อยู่ในกำหนด 90 วัน โดยขณะนี้ผ่านมาเดือนเศษแล้ว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลว่า ภาษีนำเข้าเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะสินค้าไทยล็อตสุดท้ายที่จะส่งออกไปยังสหรัฐ จะต้องส่งภายในวันที่ 9 มิถุนายน ก่อนที่จะครบกำหนด 90 วัน คือ 1 กรกฎาคม เพราะต้องใช้เวลาในการขนส่งถึง 21 วัน ซึ่งหากพ้นกำหนดวันที่ 1 ก.ค.ไปแล้ว สินค้าไทยที่จะไปถึงสหรัฐจะต้องเสียภาษีนำเข้า 36% ทุกรายการ และหากพ้นวันที่ 1 กรกฎาคมไปแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่พร้อมในการเจรจา หรือหากข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ถูกส่งออกแน่นอน ซึ่งผลกระทบไม่ได้ส่งผลแค่ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แบบครบวงจร ทำ GDP ปีนี้ อาจจะติดลบด้วยซ้ำไป หากไทยจะต้องสูญเสียการส่งออกไปยังสหรัฐ เพราะไทยถูกเก็บภาษีนำเข้า สูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้มีข้อตกลงกับสหรัฐก่อนไทย ความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะยิ่งลำบากมากขึ้น
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ก็ได้ออกมายอมรับว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีจำนวนลดลงถึงขั้นวิกฤต และปัญหานี้ยังซ้ำเติมปัญหาปากท้องของประชาชนมากยิ่งขึ้น ตนไม่อยากให้รัฐบาลนี้เสียสมาธิไปกับเรื่องอื่นที่ไม่มีความสำคัญ เช่น เรื่องเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ เพราะวิกฤติการค้าโลกในครั้งนี้ ขนาดประเทศญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าไทย ก็มีข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกระตือรือร้นเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐ ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น ก็ออกมาแถลงข่าวว่าผลกระทบของการขึ้นภาษี มีความไม่แน่นอนมากที่สุดในการค้าโลก ทำให้ไม่มีความแน่นอนในสภาพเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่น นี่ขนาดประเทศญี่ปุ่นมีความวิตกกังวลมากขนาดนี้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลสำหรับประเทศไทยและคนไทยเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ที่เชิญรัฐมนตรีมาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ เพราะไม่สามารถตั้งกระทู้ถามในสภาได้ และสภาเปิดประชุมในวันที่ 3 กรกฎาคมก็ไม่ทันเส้นตาย 90 วันของสหรัฐ”นายจุลพงศ์ กล่าว