วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightบันทึกร.7‘เจ้านายในกรุงเทพอาจถูกฆ่า’ ฉันจะนั่งบนราชบัลลังก์เปื้อนโลหิตไม่ได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บันทึกร.7‘เจ้านายในกรุงเทพอาจถูกฆ่า’ ฉันจะนั่งบนราชบัลลังก์เปื้อนโลหิตไม่ได้

“ท่านใหม่” เปิดบันทึกพระราชหัตถเลขา “รัชกาลที่ 7” เล่าเหตุการณ์ 24 มิ.ย.2475 “เจ้านายในกรุงเทพฯอาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้” ก่อนตัดสินใจเสด็จกลับพระนคร พร้อมเชิดชูยกย่องการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ “ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์”

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในวันนั้น “คณะราษฎร” ได้นำกำลังทหารและพลเรือนเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะผู้ยึดอำนาจที่มี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า ได้ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คนคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพฯ จึงประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร ถึงเหตุและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาล มาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือ และส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” และในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่ง ที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งเดิมทีคณะผู้ก่อการตั้งใจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับถาวร กระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 พล.อ.ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โพสต์ข้อความผ่านฟซบุ๊ก “จุลเจิม ยุคล” ระบุว่า…พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษพระราชทานไปยังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โดยทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความว่า

“…ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะถอดฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออกทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้

ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ

ในที่สุด มีทางจะทำได้ ๒ ทาง คือจะหนี หรือจะกลับกรุงเทพฯ ฉันยอมรับว่า ฉันตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าจะทำอย่างไรดี เราเพิ่งได้ยินคำแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียงอันรุนแรง ดูราวกับจะไปทางบอลเชวิค ถ้าเช่นนั้น การที่จะกลับไปให้เขาตัดหัว ดูออกจะไร้ประโยชน์ เป็นการเสียสละอันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย

แต่นั่นแหละ คำแถลงการณ์นั้น อาจเป็นถ้อยคำของผู้ที่ออกจะคิดสั้น และรุนแรงรวดเร็วจัดคนหนึ่ง และไม่ใช่นโยบายจริงของคณะ ฉันเลยตกลงใจเสี่ยง โดยให้ผู้หญิงเขาเลือก ทั้งหญิง (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) และหญิงอาภา (พระมารดา) ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่ และฉันเห็นว่าทั้งสองควรจะได้รับเกียรติอย่างเต็มที่ ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้น เราอาจจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์ เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน…”

ที่มา หนังสือเกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img