เปิดรายจ่ายสูงสุดงบปี 69 งบกลางได้เงินมากสุด 632,968 ล้านบาท รองมา ‘คลัง’ 397,856 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วาระแรก ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ จำนวนเงิน 3,780,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 27,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 โดยวงเงินดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.9
โดยจากเอกสารร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2569 ที่สำนักงบประมาณได้เผยแพร่ลงเว็บไซต์นั้น พบว่างบประมาณรายจ่าย แบ่งตามกลุ่มงบประมาณได้ดังนี้
1.งบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้เป็นจำนวน 632,968.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของวงเงินงบประมาณ ลดลง 209,032.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.8
2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,408,060.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.2 ของวงเงินงบประมาณ
3.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กำหนดไว้เป็นจำนวน 98,767.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ
4.งบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้เป็นจำนวน 820,820.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.7 ของวงเงินงบประมาณ
5.งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้เป็นจำนวน 274,576.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ
6.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้เป็นจำนวน 421,864.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ
7.งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง กำหนดไว้เป็นจำนวน 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประเภทต่างๆ จำนวน 3,494,900 ล้านบาท แต่เมื่อหักลดภาระการคืนภาษีต่างๆ แล้วจะคงเหลือเป็นรายได้สุทธิจำนวน 2,920,600 ล้านบาท แต่เนื่องจากเมื่อประมาณการรายจ่ายจะสูงกว่ารายได้สุทธิ จำนวน 860,000 ล้านบาท จึงมีการกำหนดจำนวนดังกล่าวให้เป็นเงินกู้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.7 ของประมาณการรายรับ
โดยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ
1.งบกลาง จำนวน 632,968 ล้านบาท ลดลงจากปี 2568 จำนวน 209,032 ล้านบาท
2.กระทรวงการคลัง จำนวน 397,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 8,197 ล้านบาท
3.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 355,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 14,333 ล้านบาท
4.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 301,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 6,852 ล้านบาท
5.กระทรวงกลาโหม จำนวน 204,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 4,713 ล้านบาท
6.กระทรวงคมนาคม จำนวน 200,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 7,403 ล้านบาท
7.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 177,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 5,673 ล้านบาท
8.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 140,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 8,058 ล้านบาท
9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 130,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 7,483 ล้านบาท
10.กระทรวงแรงงาน จำนวน 68,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 21.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังเข้ามาในงบประมาณปี 2569 ด้วย ซึ่งในงบประมาณปี 2568 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้