“วรวัจน์” ออกโรงชี้แจงกรณีศาลปกครองสูงสุดสั่ง “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท ย้ำนโยบายรัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถือเป็นการขาดทุน ชี้การใช้ ม.44 เอาผิดอดีตนายกฯ อาจกระทบความน่าเชื่อถือของไทยในสายตานานาชาติ ชี้ควรทบทวนตามหลักนิติรัฐที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.68 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ความเห็นถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 10,028 ล้านบาท ว่า โดยหลักการบริหารประเทศนั้น มุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก เม็ดเงินงบประมาณของประเทศจะถูกใช้ไปในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจทั้งหมด จึงไม่สามารถใช้คำว่า “ขาดทุน” ได้อย่างแท้จริง สะท้อนได้จากรายงานทางการเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ไม่เคยมีรายงานการปิดบัญชีว่ามีการขาดทุนเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวหรือในระบบงบประมาณของประเทศไทยเลย
นายวรวัจน์ ย้ำว่า การทำนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนอย่างโครงการรับจำนำข้าว ก็เหมือนกับทุกนโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันราคาข้าว ประกันยุ้งฉาง หรือโครงการช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตรทั่วไป ไม่มีความแตกต่าง และที่สำคัญกว่านั้นคือ การดำเนินการเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ ซึ่งก่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ถึงแม้จะออกนโยบายใดๆ มา แล้วมีความเห็นของประชาชนบางกลุ่มบอกว่าผิดพลาดหรือไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถไปเอาผิดได้ เพราะเป็นการกระทำในฐานะผู้บริหารประเทศที่ตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งทุกนโยบายย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การตัดสินใจทางการเมืองจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งของประชาชน แต่การนำบรรทัดฐานที่ไม่ใช่สากลมาบังคับใช้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายได้
นายวรวัจน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการจำนำข้าวไม่ใช่ว่าจะมีความเสี่ยงที่เสียหายอย่างเดียว แต่ก็มีโอกาสที่จะมีกำไรด้วย เพราะตัวเลขปิดบัญชีระหว่างปีเป็นเพียงตัวเลขในขณะหนึ่งเท่านั้น การชี้แจงว่ามีผลติดลบเป็นเพียงช่วงเวลาใดช่วงหนึ่งเท่านั้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระหว่างรอยต่อของการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นมีการปิดโกดังข้าวจนทำให้ข้าวเสื่อมราคา แม้ช่วงนั้นจะมีผู้ต้องการซื้อข้าวในราคาสูงแต่ก็ไม่สามารถซื้อได้ กลับถูกขายออกไปในราคาที่ต่ำเหมือนกับข้าวหมดสภาพแล้ว นี่คือปัญหาเชิงการเมืองที่พยายามเอาผิด มากกว่าปัญหาในทางปฏิบัติจริง
นายวรวัจน์ จึงเห็นว่า ควรมีการทบทวนในเรื่องนี้ และดำเนินการตามหลัก นิติรัฐ และ นิติธรรม ที่แท้จริง ไม่ใช่การนำเหตุผลทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติรัฐประหารมามีส่วนในการตัดสินใจ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตจะไม่มีใครกล้าตัดสินใจทำนโยบายดีๆ เพื่อพี่น้องประชาชนเลย เพราะทุกคนจะมัวเกรงว่าหากคิดทำนโยบายอะไรไปแล้ว ถึงแม้จะดีอย่างไรก็อาจถูกนำกลับมาเล่นงานเชิงการเมืองได้อีกในภายหลัง
“ความจริงแล้วต้องบอกว่าถ้าถามพี่น้องชาวนาและประชาชน ก็จะได้คำตอบว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งที่พี่น้องชาวนาให้ความชื่นชม และแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นได้อย่างแท้จริง ดีขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถลดการขาดดุลงบประมาณ เพราะได้รับภาษีเพิ่มมากขึ้น ในภาพรวมของทุกประเทศทั่วโลกทุกประเทศต่างก็ดำเนินการในรูปแบบนี้ทั้งหมด คือโดยการใช้จ่ายเงินของภาครัฐจะไม่มีคำว่าขาดทุน ประเทศไทยเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการบริหารประเทศในระยะยาว ผมได้ลองยกตัวอย่างข้อเท็จจริง โดยให้ลองตั้งคำถามลักษณะนี้กับ ChatGPT ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีอคติทางการเมือง และไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บทวิเคราะห์ยังออกมาในลักษณะเดียวกันนี้เลย ดังนั้น ถ้าว่ากันด้วยหลักจริงๆ คำตอบยังไงก็ออกมาตรงกันทั้งโลก” นายวรวัจน์ กล่าว