ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจล่าสุด ชี้ประชาชนกว่า 81.9% “เบื่อการเมือง” และ 75.4% รู้สึก “เหมือนถูกหลอกซ้ำซาก” สะท้อนวิกฤตศรัทธาทางการเมืองสูงสุดในรอบหลายปี
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.68 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “เบื่อการเมือง เหมือนถูกหลอก” ที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2568 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,024 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 81.9 ระบุว่ารู้สึกเบื่อการเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะ “วิกฤตศรัทธาทางการเมือง” (Political Disillusionment) ที่เกิดจากการรับรู้ซ้ำซากถึงพฤติกรรมของนักการเมืองที่ไม่ต่างจากอดีต สะท้อนสภาวะการหมดศรัทธา (Cynicism) ต่อระบบการเมืองในระดับสูงที่สุดในรอบหลายปี
นอกจากนี้ ประชาชนยังรู้สึกว่า “เหมือนถูกหลอกซ้ำซาก” ร้อยละ 75.4 และ “การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร” ร้อยละ 68.8% ซึ่งสามารถอธิบายได้ผ่านกรอบแนวคิดสะท้อนความป่วยอ่อนล้าประชาธิปไตย (Democratic Fatigue Syndrome) อันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนเข้าใจว่าการเมืองเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้อีกต่อไป
ผู้อำนวยการซูเปอร์โพลกล่าวต่อไปว่า ที่น่าพิจารณาคือ คำตอบที่ว่าการเมืองคือ “เกมแย่งชิงผลประโยชน์” ร้อยละ 63.7 และ “รู้สึกถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง” ร้อยละ 62.2 นอกจากนี้ยังระบุ “ไม่เห็นอนาคตใหม่ที่ดีทางการเมือง” ร้อยละ 54.7 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ว่าการเมืองถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ (Elite Capture) และประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกใช้ในการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้มีบทบาทในการตัดสินนโยบายอย่างแท้จริง
ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอแนะจากประชาชนต่อการเมืองสะท้อนถึงความคาดหวังต่อ “การเมืองคุณธรรม” (Ethical Politics) โดยประชาชนร้อยละ 82.7 ต้องการให้นักการเมือง “ทำให้ได้ตามที่พูด” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของ Accountability หรือความรับผิดชอบต่อคำมั่นสัญญาทางการเมือง
ผลโพลยังแสดงว่าประชาชนร้อยละ 80.6 ต้องการ “ผลงานที่จับต้องได้” ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิด Result-Oriented Governance หรือการบริหารที่เน้นผลลัพธ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์หรือการสร้างข่าวประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 74.1 ระบุ “โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่โกง” ร้อยละ 59.1 ระบุ “จริงใจกับประชาชนให้มากขึ้น” และร้อยละ 54.8 ระบุ “เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ประชาชนร่วมแก้ปัญหา”
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อ “ความโปร่งใส” (Transparency) และ “ความจริงใจ” ยังเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมของรัฐบาล (Legitimacy) และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองกับประชาชนรากหญ้า ข้อเสนอแนะให้ “เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม” ร้อยละ 54.8 คือการส่งสัญญาณว่าประชาชนกำลังแสวงหาการเปลี่ยนผ่านเชิงรุ่น (Generational Political Shift) และระบบที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนและสังคมพลเมือง
การที่ ร้อยละ 42.8 เห็นว่านักการเมืองและข้าราชการ “พอๆ กัน” สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่เรียกว่า Neutralized Trust Deficit หรือช่องว่างแห่งความไม่ไว้วางใจที่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝ่าย ในขณะที่ร้อยละ 17.9 ระบุ “ข้าราชการดีกว่า” ร้อยละ 15.6 ระบุ “นักการเมืองดีกว่า” และยังมีถึงร้อยละ 23.7 ที่ไม่มีความเห็นใดๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเกิดภาวะเฉยเมยทางการเมือง (Political Apathy) หรือไม่เห็นประโยชน์ในการให้ความเห็นเพราะไม่มีความแตกต่าง
“การสำรวจครั้งนี้ตอกย้ำความจำเป็นในการ “ปฏิรูปการเมืองเชิงโครงสร้าง” และ “ฟื้นฟูศรัทธาในระบบประชาธิปไตย” ผ่านการสร้างกลไกใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ผลโพลนี้จึงไม่ใช่เพียงการสะท้อน “ความเบื่อหน่าย” แต่คือ “ข้อเรียกร้อง” ที่มีฐานมาจากความรู้สึกที่ลึกซึ้งของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวสรุป
