สภาเอกฉันท์อนุมัติ “พ.ร.ก.ไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล” ให้ธนาคารร่วมชดใช้ค่าเสียหายจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เร่งคืนเงินผู้เสียหาย “จุติ” ซัดแรง! ไอ้คนที่ชั่วที่สุดคือไทยดำ เอื้อต่างชาติมาหลอกคนไทย ด้าน “วิโรจน์” เห็นด้วย เหน็บ รบ.พยามยามสร้างพายุหมุนจาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” แต่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดูดเงินออกไปหมด ขณะ “โรม” ถามสอบกันเสร็จยัง พลตำรวจตรี ต.เต่า เอี่ยวแก็งคอลฯ
วันที่ 28 พ.ค.2568 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งแบ่งเวลาในการอภิปรายฝ่ายละ 2 ชั่วโมง รวม 4 ชั่วโมง และจะเป็นการรวมพิจารณา และแยกลงมติทีละฉบับ
โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอหลักการว่า เนื่องจากปัจจุบัน มี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ยังมีมาตรการบังคับทางกฎหมายที่ยังไม่เพียงพอ กับรูปแบบอาชญากรรม กลุ่มมิจฉาชีพ จึงต้องแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย เช่น การเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย, การอายัดบัญชีม้า, การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และมาตรการการโอนเงินผิดกฎหมาย ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล
จากนั้น ได้เปิดโอกาสให้ สส.อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ไม่อยากให้เส้นผมบังภูเขา ขอให้ปราบได้จริง สิ่งที่เห็น ท่านได้ดำเนินการกับคนที่ไปหลบในประเทศเพื่อนบ้าน ภาคเหนือมาแล้ว แต่ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังเหลือประเทศเพื่อนบ้านภาคตะวันออก วันนี้ หนู งู หนีจากภาคเหนือไปอยู่ภาคตะวันออกหมดแล้ว ท่านต้องใช้เวลานานเท่าไหน ใช้ตำรวจทำคดีกี่คน ทำไมไม่แก้กฎหมายฟอกเงินด้วย ถ้าจำเป็นอยากให้แก้เพิ่ม อย่างเรื่องสารวัตรซิว ทำไมจับไม่ได้ ตำรวจไทยเก่ง หนีไปดูไบก็ตามจับกลับมาได้ แต่นี่พนันออนไลน์ ตนคิดว่าไม่เกินความสามารถท่าน ตนไม่อยากให้เลือกปฏิบัติ วันนี้ที่ต่างชาติไม่กล้ามาลงทุนในไทย เพราะข้อมูลรั่วไหล 1 ใน 10 ของโลก มีจุดที่ต้องแก้ไขเยอะ ขอให้เป็นวาระเร่งด่วน ทำไมไม่ใช้ AI มาช่วย บทลงโทษก็เบาไป เหมือนเกรงใจ ตนจะดูว่างบ 2569 จะแต่งตั้งตำรวจสืบสวนได้กี่พันคน รัฐบาลให้เครื่องมือในการปราบปรามพอเพียงหรือไม่
“เราไปโทษต่างชาติเทา แต่ไอ้คนที่ชั่วที่สุดคือไทยดำ เรามีคนที่เอื้อให้ต่างชาติมาหากินมาหลอกคนไทย ไอ้พวกนี้ ชั่วที่สุดครับ วันนี้ขอให้ท่านทำจริง” นายจุติ กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ปัจจุบันปัญหาแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายมหาศาล และ 1 ใน 5 ของเหยื่อเป็นผู้สูงอายุ ที่ถูกหลอกเงินที่ตัวเองเก็บมาทั้งชีวิต จนสิ้นเนื้อประดาตัวในบั้นปลายโดยที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในวัยที่จะทำเงินทำงานหารายได้อะไรได้อีกแล้ว แสดงว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์วันนี้ไม่ใช่แค่โจรหลอกคน แต่เป็นโจรที่กำลังสร้างปัญหาสังคม ที่ทำลายระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ ตนเชื่อว่า พ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่นี้ จะช่วยให้หน่วยงานที่กำกับดูแลระบบการชำระเงินโทรศัพท์คมมนาคมมีอำนาจในการจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ตนสนใจอย่างมากอยู่ที่มาตรา 8/10 ที่ระบุว่าธนาคารเครือข่ายมือถือหรือผู้ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดียต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายด้วย ไม่ปล่อยให้ผู้เสียหายรับผิดชอบตามลำพัง แบบคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง ตนยืนยันว่าเป็นการแก้ไขตรงจุดอย่างมาก เพราะการที่ธนาคาร เครือข่ายมือถือและผู้ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดียไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ลูกค้าถูกโจรหลอกดูดเงินก็ผลักภาระไปให้ลูกค้ารับผิดชอบเองเต็มๆคนเดียว ตนขอถามว่าสภาวะแบบนี้ธนาคาร เครือข่ายมือถือและผู้ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดีย จะมีแรงจูงใจอะไรในการปรับปรุงระบบความปลอดภัย และปกป้องประชาชนและเจ้าของบัญชีเงินฝากจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นตามมาตรานี้ ธนาคารไม่ต้องกลัวว่าจะเจ๊งล้มละลาย ไม่ต้องกังวล เพราะหากธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบ เราจะเห็นการปรับปรุงระบบความปลอดภัยของธนาคารออนไลน์ครั้งใหญ่และธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันโจร
“ไม่มีธนาคารไหนปล่อยจอยให้ลูกค้าโดนโจรดูดเงิน หลอกเงินแล้วตามจ่าย แต่ทุกวันนี้ไม่มีกฎหมาย ธนาคารเลยไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงระบบความปลอดภัยของตัวเอง ผมคุยมาหลายธนาคาร ผมยืนยันว่าไม่มีธนาคารไหนจะยอมปล่อยให้ระบบของตัวเองด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ความเสียหายระดับ 3 หมื่นล้านบาทจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทันที ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้กลไกทางกฎหมายนี้ในการผลักดันให้ธนาคารเครือข่ายมือถือและผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่มีทั้งทุนทั้งเทคโนโลยีให้ไปสู้กับโจรออนไลน์ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนผู้สูงอายุในวัยเกษียณไปดวลกับโจรแบบที่ผ่านมา” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องติดตามต่อนับจากนี้คือการบังคับใช้พ.ร.ก.ไซเบอร์ในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการออกกฎหมายลูก ก็อยากถามว่ากฎหมายลูกจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะหากมี พ.ร.ก.โดด ทำงานไม่ได้ หรือในมาตรา 8/2 เกี่ยวข้องกับการคืนเงินให้กับผู้เสียหายก็ต้องมีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขและกรอบระยะเวลาก็ต้องถามเหมือนกันว่ากระทรวงดีอี ว่า มีกำหนดการหรือไม่ว่าจะออกกฎกระทรวงแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ตนยืนยันว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่แค่ปัญหาอาชญากรรม แต่คือภัยคุกคามของระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง ลองคิดดู รัฐบาลอัดฉีดเงินดิจิทัลวอลเลตเข้ามาในระบบ พยายามจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำตัวเป็นเครื่องดูดฝุ่น ดูดเงินออกไปปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับพนันออนไลน์ ที่สร้างความเสียหายปีละ 60,000 ล้านบาท สุดท้าย เงิน 100,000 ล้านบาท ที่จะสร้างพายุหมุนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ดูดไปหมด เหลือแค่ 10,000 ล้านบาท แล้วหมุนกลับมาฟอกเป็นเงินบาทในประเทศไทย ซึ่งทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร มีความคาดหวังกับกฎหมายฉบับนี้มากกว่านี้ บรรดาพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พูดง่ายๆ คือเป็นคนจีน ดังนั้น การแก้ปัญหา เราต้องแยกออกเป็น 2 มิติ มิติแรกเป็นมิติของการทำลายโครงสร้างอาชญากรรม ซึ่งวันนี้มีปัญหา เขาขาดความต่อเนื่องในการปราบปราม วันนี้บรรดาจีนเทาทั้งหลายเริ่มกลับมาประกอบธุรกิจแบบเดิม ในสถานที่เดิมแล้ว นอกจากนี้ ที่ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่าฝั่งเมียนมาคือกัมพูชา
“เราอาจจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา แต่ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าในการปราบปรามแก๊งเหล่านี้น้อยมาก ณ วันนี้ ขาดประสิทธิภาพ” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า มิติที่ 2 คือการจัดการภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีม้า ซิมม้า วันนี้แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่แนวโน้มที่มีคนถูกหลอกกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาบางอย่าง เราต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องมั่นใจว่าคนไทยจะได้รับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ภาระไม่ควรจะตกเป็นของประชาชน แต่วันนี้ยังเปิดให้มีช่องทางที่ควบคุมไม่ได้ วันนี้ยังไม่มีการหน่วงบัญชี ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าพี่น้องประชาชนถูกหลอก เงินที่จะไหลเข้าสู่บัญชีม้าแถว 1 2 3 4 ก็ยังเดินทางต่อไปได้ เราไม่สามารถตามเงินต่อได้ โอกาสที่ประชาชนจะได้เงินคืนมีเท่าไหร่ มาตรฐานอยู่ตรงไหน ดังนั้น ต้องมีไกด์บุ๊ค
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนทุกค่าย มีทีมทนายความเยอะแยะมากมายในการพิจารณาในศาล เขาจะสามารถแสดงได้ว่าทำตามมาตรฐาน ไม่มีความผิดพลาดในระบบอะไรเลย ส่วนตาสีตาสา จะเอาพยานเชี่ยวชาญจากไหนในการหักล้าง ตนนึกไม่ออกว่าจะทำได้ ดังนั้น การกำหนดแบบนี้ ตนถือว่าไม่ได้เป็นการกำหนดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับบรรดาผู้ประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง
“ท่านสอบกันเสร็จหรือยังครับ พล.ต.ต. ต.เต่าแสดงให้เห็นหน่อยว่ารัฐบาลนี้จะเอาผิดกับบรรดาไทยเทา เจ้าหน้าที่รัฐเทา ประชาชนจะได้เชื่อมั่น วันนี้ ท่านออกมาตรการอะไรมาก็แล้วแต่ ประชาชนก็จะตั้งคำถามว่าตกลงแล้วรัฐบาลนี้มีแรงจูงใจมากเพียงพอจริงหรือไม่ในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการที่ท่านแสดงให้เห็นสิ่งที่ได้ ต้องพิสูจน์ตั้งแต่วันนี้ ผมเชื่อว่าการทำงานของสภากับทางคณะรัฐมนตรี เราจะได้ช่วยกันสนับสนุนกันและกันในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติ อนุมัติ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ด้วยคะแนน 452 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออดเสียง 2 เสียง ขณะที่ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ที่ประชุมอนุมัติ 453 ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง