สภาฯรับหลักการ ‘ร่าง กม.รฟม.’ พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 25 คน ‘กล้าธรรม’ เสนอ ‘งูเห่ากฤษฎิ์’ ร่วมคณะ ด้าน ‘สส.ปชน.’ ประกาศไม่รับ เหตุเป็นเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ ‘รัฐบาล’ เปิดช่องให้ล้วงกระเป๋าเอาเงินกว่า 1.6 หมื่นล้าน ขณะที่ ‘ชนินทร์’ รับ แก้กฎหมาย เพื่อดำเนินนโยบาย ‘รฟฟ. 20 บาทตลอดสาย’ ง่ายขึ้น ส่วน ‘จุติ’ ไม่เห็นด้วย ออกพันธบัตร-กู้เงิน พร้อมขอให้ทบทวน
วันที่ 28 พ.ค.68 เวลา 14.03 น. ที่รัฐสภา ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเข้าสู้การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ …) พ.ศ….ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้กล่าวเสนอหลักการ และเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ สำหรับสาระสำคัญนั้นเพื่อให้ รฟม.สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม ทำให้การเดินทางมีความสะดวก คล่องตัวแก่ประชาชน และรฟม.สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินซึ่งรวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อแสวงหารายได้ให้แก่หน่วยงาน ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐ เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี การบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาการให้เช่าพื้นที่ร้านค้า การให้บริการ Wi-Fi นอกจากนี้ให้ รฟม.สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม. นอกเหนือจากเพื่อการลงทุน ได้ และการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน ของ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คมนาคม จากเดิมต้องผ่าน ครม.
โดยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อดึงเงินสะสมมาอุดหนุนรถไฟฟ้าโครงการ 20 บาทตลอดสายตามที่รัฐมนตรีฯให้สัมภาษณ์ พร้อมตั้งคำถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการประสานงานแต่ละปี เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้มากับต้นทุน โดยเฉพาะเป็นการล้วงกระเป๋าของ รฟม. พร้อมหยิบยกเหตุผลที่เคยประกาศว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำไม่ได้ แต่รัฐบาลควรทำราคาค่ารถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดทาง มองระบบขนส่งการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยไม่เห็นด้วยจาก 4 เหตุผล คือ 1ร่างกฎหมายวันนี้เพราะ มีการเร่งรีบแซงคิวอย่างน่าเกลียด 2. ร่างที่เข้าสภาแตกต่างจากที่รับฟังความเห็นมามาก 3. เนื้อหาแก้ไม่ได้ตั้งใจทำให้ รฟม. ดีขึ้นแต่เป็นการแก้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล และ 4. การลดภาระค่าเดินทางควรทำอย่างรอบคอบผ่านกลไกค่าโดยสารตั๋วร่วมที่ต้องคำนึงถึงผลระยะยาว
“โดยสรุป พ.ร.บ. นี้มีมาเพื่อล้วงกระเป๋า รฟม. 16,000ล้านบาท เพื่อมาทำนโยบาย 20 บาทให้อยู่ได้สองปี ไม่ได้อยู่ยั่งยืนจีรังที่เหลือคือหนี้ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันจ่ายและการตัดสินใจของรัฐบาลน่าจะจะเอาอย่างไรต่อกับเรื่องนี้และการเลือกทำนโยบายแบบนี้แน่นอนประชาชนอาจจะไม่พอใจเพราะเคยจ่ายถูก แต่ถูกอย่างไม่สมเหตุสมผล การเสนอกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาให้ รฟม. แต่แก้ปัญหาที่รัฐบาลสร้างขึ้นไม่สมเหตุสมผล 20 บาทตลอดสาย โดยจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการล้วงกระเป๋า รฟม.” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
จากนั้นมี สส.หลายคนอภิปรายด้วยความเห็นที่หลากหลายเช่น นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส. พรรคเพื่อไทย สนับสนุนร่างกฎหมาย โดยเห็นว่าจะเป็นการยกระบบ ขีดความสามารถขนส่งของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ นโยบายรัฐบาล การผลักดันลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งชี้ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายไม่ใช่ทำเพื่อการหาเสียงหรือขายฝันเท่านั้น แต่จะเป็นการพิสูจน์ว่าโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จริง ผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นการลดภาระค่าของชีพในการเดินทางของประชาชน
นายปัญญา ชูพาณิชย์ ผอ.สำนักนโยบายขนส่งและแผนและการจราจร ลุกขึ้นชี้แจง แทน รฟม. กรมรางฯ และ สนข. ว่านโยบายของกระทรวงคมนาคมการให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมีการลงทุนโครงการต่างๆมูลค่ามาก เช่น รถไฟรถไฟฟ้าลงทุนมูลค่ามหาศาลแต่ที่ผ่านมาปริมาณของผู้ใช้รถไฟฟ้าอย่างต่ำ ทำให้มูลค่าที่ลงทุนอย่างเหมาะสม ซึ่งประเด็นที่ทำให้คนมาใช้น้อยคือเรื่องของราคาค่าโดยสาร และความสะดวกในการใช้งาน และเพื่อให้การใช้รถไฟฟ้าสะดวกจึงมีการเสนอร่างกฎหมายตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบรถไฟฟ้าในราคาถูกจำเป็นต้องใช้งบประมาณช่วยชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบัน ส่วนเงินที่นำมาใช้มาจากหลายแหล่ง แหล่งหนึ่งมาจากการจัดสรรของรัฐบาลผ่านงบประมาณแผ่นดิน สนับสนุนในค่าโดยสารและเครื่องมือต่างๆ และอีกแหล่งหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ใช้เงินกำไรสะสมของ รฟม. สนับสนุนการดำเนินการ จึงมีที่มาของการเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้
“ในกฎหมายที่ขอเสนอการแก้ไขไม่ได้ดูเรื่องของเอาเงิน รฟม. มาสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว มีมาตราอื่นด้วยที่จะเปิดโอกาสให้ รฟม. สามารถ บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน” นายปัญญา กล่าว
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายโดยตั้งคำถามต่อผู้ชี้แจงว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนใช้ค่าโดยสารถูก 20 บาทตลอดสาย แต่ถามไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่บริหารทรัพยากรที่ขาดแคลน ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวเป็นประชานิยม แต่ประชาชนเป็นผู้ใหญ่ แต่ถามว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้นานแค่ไหนโดยไม่ต้องใช้เงินเงินอุดหนุน หรือหาวิธีอื่นนอกจากใช้เงินเงินกองทุน รฟม. และ รู้สึกตกใจ มีข้อมูลจากผู้อภิปรายคนอื่นว่า รฟม. มีหนี้_6 แสนล้านบาท และมีกองทุน1.6 หมื่นล้าน ซึ่งสุดท้ายประชาชนก็จะต้องเป็นผู้ใช้หนี้
“วันนี้ท่านทราบแล้วว่ามีผู้โดยสารประมาณวันละ 2 ล้าน คน ถ้าเผื่อลดราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน เป็นสิ่งประเสริฐมากว่ากรุงเทพมหานครสามารถดูแลคน 3 ล้านคนให้มีค่าโดยสารที่ถูกลง ลดค่าของชีพจริงแต่ขอถามเถอะว่าเงินที่เอามานั้นมาจากไหน เราอยากช่วยคนจนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานครให้มีค่าโดยสารที่ถูก แต่ถามว่าท่านกำลังเอาเงินภาษีจากคนทั้งประเทศจากคนจนกว่า มาอุ้มคนจนด้วยกันหรือ ซึ่งเป็นคำถามที่รัฐมนตรีต้องตอบต่อสภา” นายจุติกล่าว
นายจุติ กล่าวต่อว่า ตนไม่สบายใจกรณีการอนุญาตให้มีการออกพันธบัตรได้เอง เพราะห่วงฐานะเครดิตความน่าเชื่อถือของกระทรวงการคลัง หากแต่ละกระทรวงออกปฏิบัติได้เองจะสามารถคุมวินัยการเงินการคลังได้อย่างไร และต้องบอกว่าวันนี้รัฐบาลไทยไม่ใช่เศรษฐีซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นหนี้อยู่และยังต้องกู้ จึงต้องการฟังการชี้แจง การบริหารนวัตกรรมการบริหารค่าโดยสารโดยไม่ต้องหยิบเงินจากกองทุนหรือออกพันธบัตรกู้ โดยย้ำให้คำนึงถึงความคุ้มค่า เพราะว่าเงินนั้นไม่ว่าใครกู้รัฐบาลก็เป็นหนี้และผู้จ่ายคือประชาชน
“ฝากไปยังกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นว่าช่วยกันระดมสมองว่า 20 บาทตลอดสายเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีกว่าคือไม่ต้องใช้เงินเงินกู้ไม่ต้องใช้เงินเงินอุดหนุน ความคุ้มค่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยาจกประเทศไทย เราไม่ใช่เศรษฐี” นายจุติ กล่าว
จากนั้นมีการลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ด้วยมติ 295 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 25 คน แบ่งเป็น สัดส่วน ครม. 6 คน สส. 19 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 6 คน พรรคเพื่อไทย 6 คน พรรคภูมิใจไทย 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน พรรคกล้าธรรม 1 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และพลังประชารัฐ 1 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคกล้าธรรม ได้ขอเสนอชื่อ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ที่ขณะนี้ประกาศร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม