เริ่มแล้ว! “นายกฯอิ๊งค์” แจงยิบงบฯปี 69 ยังห่วงภาษีมะกันฉุดศก.ไทย นโยบายการค้าโลกทำแบกความเสี่ยงเพิ่ม เผยรายจ่าย 6 ยุทธศาสตร์หลัก พร้อมลุยยกระดับแก้ปัญหาน้ำ-ปราบโกง เตรียมกันงบใช้จ่ายฉุกเฉิน 6.6 แสนล้าน
วันที่ 28 พ.ค.2568 เวลา 16.00 น.มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมสภาฯว่า เศรษฐกิจไทยปี2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ2.3-3.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวการลงทุนภาครัฐ การบริโภคในประเทศ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ส่วนเศรษฐกิจปี2569 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมี.ค.2568 มี12.08ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ64.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ภายใต้กรอบบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่ไม่เกินร้อยละ70 ขณะที่เงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2568 มี252,124ล้านบาท
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ด้านภาวการณ์เงินโดยรวม ยังตึงตัว แต่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี เงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 31ธ.ค. 2567 มี 237,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ปีงบประมาณ2569 รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี2569 วงเงิน 3.78ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.65ล้านล้านบาท รายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 123,541 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 864,077 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 151,200ล้านบาท
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า งบรายจ่ายปี2569 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6ด้านคือ 1.ด้านความมั่นคง 415,327ล้านบาท อาทิ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแก้ปัญหายาเสพติด การรักษาความสงบในประเทศ 2.ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน 394,611ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 605,927ล้านบาท อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา การเสริมสร้างคนมีสุขภาวะที่ดี การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยปฏิรูประบบการศึกษา ปรับรูปแบบการเรียนการสอน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มที่เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 942,709ล้านบาท ให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง อาทิ การบริหารจัดการที่ดิน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การรองรับสังคมสูงวัย

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 147,216 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ 605,441ล้านบาท เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐให้มีสมรรถนะสูง เปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล อาทิ การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ประเทศไทยปลอดทุจริต โดยปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้มีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต มีเป้าหมายค่าดัชนีรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับ 1 ใน 45 หรือ ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 56 คะแนน รวมถึงการมีรัฐบาลดิจิทัล หน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพ การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของกฎหมายที่มีอยู่ ลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 669,365ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง อาทิ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิภัยร้ายแรง ภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ การกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2569 มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อจำกัดด้านรายได้และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จึงดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง เกิดผลสัมฤทธิ์การพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม