”ซุปเปอร์โพล’’เผยประชาชนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนสังคมให้ผ่านพ้นจากวิกฤตโรคระบาดวิกฤตไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การต่อสู้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,114 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ระบุสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 วันนี้ เกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ร้อยละ 8.1 ระบุไม่เกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 ระบุ รัฐบาลต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคปิดพื้นที่ ร้อยละ 94.1 ระบุ รัฐบาลต้องเข้มแข็งเด็ดขาดด้านนโยบาย คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ร้อยละ 93.8 ระบุ รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารนโยบายและมาตรการให้ชัดเจนต่อเนื่อง ร้อยละ 93.7 ระบุ รัฐบาลต้องบริหารจัดการวัคซีนให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 92.3 ระบุ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดควบคุมโรค และร้อยละ 91.1 เห็นด้วยต่อมาตรการปิดเป็นพื้นที่และกำหนดมาตรการเฉพาะคุมเข้มกิจกรรมเสี่ยง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 ระบุ กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการดูแลตัวเองในฐานะผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน ร้อยละ 94.1 ระบุฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครต้องลงตอบสนองวิกฤตสถานการณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ และ ร้อยละ 94.1 เช่นกันระบุกระทรวงสาธารณสุขต้องสื่อสารให้ชัดเจนถึงการบริหารจัดการวัคซีน ร้อยละ 93.9 ระบุ กระทรวงสาธารณสุขต้องเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมสนับสนุนมาตรการควบคุมโรค และร้อยละ 93.6 ระบุฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ทั้งระดับนโยบายและพื้นที่ ต้องกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ ตอบโจทย์ตรงเป้าใจของประชาชน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 ระบุ ภาคเอกชน นายทุน ต้องเสียสละและมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมมากขึ้น และร้อยละ 91.6 ระบุ ต้องการให้ภาคเอกชน นายทุน สนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.4 ระบุ ขอให้สื่อมวลชนอยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน ร้อยละ 94.2 ขอประชาชนต้องร่วมมือกันหยุดเชื้อ ปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้ม เช่น ไม่เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดหากไม่จำเป็น ทำงานที่บ้าน ยกการ์ดสูงป้องกันตนเอง ร้อยละ 94.0 ขอประชาชน หยุดการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบิดเบือนสร้างความโกรธเกลียดต่อกัน ร้อยละ 93.6 ขอสื่อมวลชนช่วยรณรงค์ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ลดความตื่นตระหนกของสังคม และร้อยละ 93.6 เช่นกัน ขอสื่อมวลชนร่วมให้กำลังใจประชาชนผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนการมีส่วนร่วม ต่อสู้ผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นถึงปัญหาวิกฤตของระบบสาธารณสุขในการรับมือจากเชื้อสายพันธ์ใหม่ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการภาวะวิกฤตต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ต้องมีความเข้มแข็ง เด็ดขาดและชัดเจนทางนโยบาย สื่อสารชัดเจน บริหารจัดการวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลงเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการมาตรการควบคุมโรคทันที
“ขณะที่ประชาชนอยากเห็นบทบาท การแสดงออกและความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ในภาวะวิกฤตมากกว่าที่เป็นอยู่ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ รวมทั้งต้องการให้กระทรวงสาธารณสุข สื่อสารให้ความเข้าใจกับการบริหารจัดการวัคซีน การเข้าถึงระบบการรักษา และความเข้าใจในการดูแลตนเองในการกักแยกตัวควบคุมโรคที่บ้านให้มากขึ้น” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนควรต้องเสียสละมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างมากขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนเอง ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ปฏิบัติตามมาตรการรัฐที่กำหนดร่วมมือหยุดเชื้อเพื่อชาติ ผ่อนเบาเจ้าหน้าทางการแพทย์และที่สำคัญต้องไม่ให้ข้อมูลบิดเบือน ส่อเสียดลดทอนกำลังใจและความน่าเชื่อถือของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจสร้างความสับสนกับสังคม ในขณะเดียวกัน ยังมองถึงบทบาทและความสำคัญของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ที่ต้องเข้ามาร่วมทำหน้าที่กระจายข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันขับเคลื่อนสังคมให้ผ่านพ้นจากวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ไปด้วยกัน