”พล.อ.ณัฐพล’’เผยสธ.ยก’’โมเดลอู่ฮั่น’’มาหารือแต่ยังไม่มีข้อสรุป ย้ำช่วง’’เคอร์ฟิว’’ห้ามออกจากบ้าน ส่วนนอกช่วงอื่นขอความร่วมมือ ยันโครงการศบค.ยังทำงานได้แม้ว่าบางครั้งข้อมูลแตกต่างกันบ้าง
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.64 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค. ) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมแผนรองรับ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด อาจถึงขั้นปิดเมืองคุมเชื้อเช่นเดียวกับอู่ฮั่น ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมการไว้ในทุกสถานการณ์เราคิดสถานการณ์ขั้นต่อไปไว้ตลอดว่าสถานการดีขึ้นหรือไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร
สำหรับโมเดลอู่ฮั่นนั้นเป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 ก.ค.อธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงโมเดลนี้ เมื่อถึงเวลาต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะประเมินสถานการณ์อย่างไร ซึ่งศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี
“ศบค. การใช้มาตรการที่เข้มข้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และขอให้ทุกคนร่วมมือให้ 14 วัน ปฏิบัติเพื่อให้ มาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้น จะได้ผ่อนคลายเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยเราติดตามสถานการณ์ทุกวัน และ จะประเมินทุก 7 วัน”พล.อ.ณัฐพล
เมื่อถามถึง มาตรการที่ออกเพิ่มเติมจากมาตรการเคอร์ฟิว ที่ไม่ให้ออกมาในช่วงเวลากลางวัน ถือเป็นการขอความร่วมมือหรือคำสั่งห้าม พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ห้วงเคอร์ฟิวเราจะใช้คำว่าห้ามเลย แต่ในช่วงของนอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นต้องเน้นในบางกิจการและบางกิจกรรม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ขอใช้คำว่าให้งด ให้หลีกเลี่ยง เพราะเมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไปอาจจะจำเป็นต้องใช้คำว่าห้าม เมื่อถึงคำว่าห้ามแล้วคงมีกิจการกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางเพื่อไปฉีดวัคซีนนั้นแบ่งได้เป็นหลายกรณีคือ ตามปกติการฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่ได้รับนัดให้มาฉีดในกรุงเทพฯ ถ้ามีใบนัดหรือมีหลักฐานแสดงการนัด ก็ขอให้แสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด แต่ในกรณีการเดินทางนั้น ทางศบค. มีความห่วงใยไม่อยากให้พี่น้องประชาชนที่มาจากในพื้นที่ความเข้มต่ำกว่าเดินทางมายังพื้นที่ที่มีความเข้มสูงกว่า เช่น จากพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สีส้ม เดินทางมาในพื้นที่สีแดงเข้ม เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนโรงพยาบาลสัตว์นั้นถือเป็นกิจการด้านบริการสาธารณสุขและแง่มนุษยธรรม โดยปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลและมีความผูกพัน ดังนั้นหากสัตว์ไม่สบายมีความจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล
เมื่อถามว่าศบค.ประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าว ความสำเร็จในการควบคุมโรคจะประกอบด้วย 3 ส่วนแรก คือ หน่วยงานภาครัฐต้องมีความเข้มข้นจริงจังในการควบคุมโรค ภาคเอกชนให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการทั้งของภาครัฐและเอกชนกำหนดเพิ่มเติม
และส่วนที่ 4 ที่จะช่วยขับเคลื่อนมาตรการให้มีประสิทธิภาพได้คือ สื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนจะทำให้มาตรการมีประสิทธิผล หาก 4 ส่วนนี้ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ศบค.คาดว่าสถานการณ์น่าจะเอาอยู่ แต่ลำพังศบค.อย่างเดียว ต่อให้มีมาตรการเข้มงวดอย่างไรแต่ที่เหลือไม่ให้ความร่วมมือก็คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณัฐพล ยังมองว่า ปัจจุบันโครงสร้างศบค.ทำงานได้อย่างดี บางครั้งการให้ข้อมูลอาจแตกต่างกันบ้างแต่หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกัน ยืนยันทีมเดิมโครงสร้างเดิมยังมีประสิทธิภาพอยู่ ส่วนจะมีผู้เชี่ยวชาญมาเพิ่มเติมหรือไม่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาแต่ส่วนตัวคิดว่าโครงสร้างปัจจุบันมีความพร้อมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ