“ก้าวไกล” ชี้แก้รธน. 6 ด้านมีปัญหา แนะ จับตา ส.ว. ตัวแปรล้มมติวาร 3 เย้ยแก้ยังไงก็สืบทอดอำนาจคสช. เตือนคนที่โหวตผ่านต้องรับผิดชอบ ชี้กำลังนำพาประเทศไปสู่ความโกลาหล
วันที่ 9 ก.ย. 64 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แถลงถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 10 ก.ย. นี้ ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความกระท่อนกระแท่น เห็นว่าการลงมติในวันพรุ่งนี้น่าจะมีปัญหา 6 ด้าน คือ 1.ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ มีการเขียนหลักการที่แคบมาก คือแค่มาตรา 83 กับ 91 ทำให้การถกเถียงนำพาไปสู่การตีความ 2. กมธ.ร่างแก้ไขรธน.ได้ถอดมาตราที่เกินหลักการออก ซึ่งเป็นเรื่องดี เราเห็นด้วย แต่มันนำพาไปสู่ความล้มเหลว 3. การถอดอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 93 และ 94 ซึ่งมีคำว่าจำนวน ส.ส.พึงมี และจำนวน ส.ส.พึงได ้ 4.การคำนวณแบบระบบผสมเสียงข้างมาก (MMM) เป็นการคำนวณคะแนนที่เบี่ยงเบน 5.พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเป็น MMM หรือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) ไม่ว่าจะบัตรใบเดียว หรือ 2 ใบ เราพร้อมสู่ทุกกติกาอยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นด้วยหลักฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งมันยุติธรรมพอที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องแตกแบงค์ หรือกังวลว่าจะต้องย้ายไปร่วมกับพรรคใหญ่ ทุกคนมีอุดมการณ์ ทุกคนมีนโยบายที่อยากผลักดันก็สามารถเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้ แต่หากพรรคใหญ่จะเอาให้ได้ ไม่สนบทเรียนในปี 40 หรือ 50 ตนก็คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชน แต่เพื่อความพร้อมในการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐหลังจากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ก็ต้องถามตัวเองว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งจริงหรือไม่
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า 6.นักวิชาการและฝ่ายการเมืองหลายฝ่ายก็ออกมาแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่าระบบการเลือกตั้งแบบ MMM เอื้อต่อการกินรวบ เราจึงได้เห็นความร่วมมือที่ผิดสังเกตของพรรคใหญ่ ซึ่งปกติก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกันตลอด และการโหวตพรุ่งนี้หลักใหญ่จะอยู่ที่ส.ว. ไม่เชื่อว่า ส.ว.จะมีเสียงที่เป็นอิสระ พราะตนยังไม่เห็น ส.ว.คนใด แสดงความคิดเห็นที่เป็นทางบวกต่อการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งรอบนี้ ซึ่งการแก้ไขไม่ไปแตะโครงสร้างอำนาจของ ส.ว. รอบหน้าเราก็ยังได้รัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.อยู่ดี ดังนั้นเราจึงเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้นอกจากจะไม่จริงใจแล้ว ยังเต็มไปด้วยวาระทางการเมืองที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของเผด็จการอำนาจนิยม พรรคก้าวไกลจึงขอวิงวอนให้สังคม และพรรคการเมือง ที่มีจิตสำนึก ให้ร่วมต่อสู้เพื่อกติกาที่เป็นธรรมและความถูกต้องของกระบวนการนิติบัญญัติ
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เมื่อรวบรวมความล้มเหลวของกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ เรากำลังทำกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ความชุ่ย และความลุกลี้ลุกลน จนทำให้ไม่น่าจะมีกระบวนการที่ดีในวันพรุ่งนี้ และเรายังเหลือเวลาในการตัดสินใจเรื่องนี้อีกประมาณ 24 ชม. ฝ่ายการเมืองต่างๆ คงต้องประเมินให้ดีว่ารอบนี้เราจะกลายเป็นความด่างพร้อย ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากมันผ่านไปได้ แล้วไปมีวิบากกรรม ตนคิดว่าจะมีหลายฝ่ายยื่นตีความแน่ๆ รวมถึงกฎหมายลูกที่มีปัญหา คนที่โหวตผ่านในวันพรุ่งนี้จะต้องรับผิดชอบให้ดี เพราะกำลังนำพาประเทศไปสู่ความโกลาหล สำหรับพรรคก้าวไกลจะมีการหารือกันต่อไป ว่าเสียงในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราคงจะฟังเสียงประชาชนและฝ่ายต่างๆ ที่กำลังเจรจากันอยู่ แต่คงไม่มีใครมาเจรจากับก้าวไกล
“เราจะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและชัดเจนที่สุดในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยความจริงแล้วในการลงมติพรรคก้าวไกลจะลงอะไรก็ได้ เพราะเสียงเราไม่ได้มากพอที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะหลักใหญ่อยู่ที่ ส.ว. ที่คงจะต้องคิดหนักว่าจะโหวตอย่างไร ที่ผ่านมาก็งดออกเสียงมาเรื่อยๆ แต่หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคว่ำกติกานี้ เพราะหลายท่านไม่เห็นด้วย” นายปดิพัทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตคว่ำเลยหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความจริง เราไม่เคยเรียกร้องใคร เราเรียกร้องตั้งแต่แรกว่าเราไม่ควรมาแก้กติกาเลือกตั้งกันเอง แต่ต้องให้ ส.ส.ร.ออกแบบการเลือกตั้ง และอีกข้อเรียกร้องคือจะไปแก้กติกาเลือกตั้งอย่างไร ก็ไม่รู้แต่ขอกระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้องไม่แก้ไขเกินหลักการ ส่วนจะไปเรียกร้องให้โหวตอย่างไร เราไม่เคยทำแบบนั้น ตนคิดว่าพรุ่งนี้ต่างคนต่างต้องรับผิดชอบกรรมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กันเอง ส่วนจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ตนคิดว่าคงต้องทำด้วยความรอบคอบ ทุกอย่างจะต้องได้รับการประเมินในวันพรุ่งนี้ก่อน