สภาฯถกร่างพรบ.อุ้มหายแล้ว “เจี๊ยบ” ซัดประเทศนี้มีข้อสงสัยแต่ไร้คำตอบ ถามคุกลับมีจริงหรือไม่ ด้าน “โรม” ชี้เป็นจุดเริ่มต้นสิ้นสุดวงจรอุบาทว์
วันที่ 15 ก.ย. 64 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม ได้ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งมีทั้งหมด 4 ร่าง ได้แก่ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมกล่าวถึงหลักการและเหตุผล ว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเหตุผล โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาสำคัญคือมุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดฐานทรมาน ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดไว้ในทำนองเดียวกันคือ เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งคือเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม เพื่อลงโทษบุคคลที่ถูกทรมานอันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลนั้นหรือสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำการสิ่งใด เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมานหรือบุคคลที่สามและเพราะเหตุผลอื่น ๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาทหากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 3แสนบาท-1ล้านบาท และหากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โทษก็จะหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง ส่วนผู้บังคับบัญชาหากทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนกระทำหรือได้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวและไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดหรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวน และดำเนินคดีตามกฏหมายต้องระหว่างโทษครึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ชีวิตของคนที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมของคนในครอบครัวเป็นใครเหมือนแก้วที่ร้าว ซึ่งที่ผ่านมา ต่างชาติได้รวบรวมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยอย่างน้อย 86 ราย นับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน หลังการรัฐประหารปี 57 มีข้อร้องเรียนการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่า 250 เรื่อง ไทยถูกตั้งคำถามจากกว่า 10 ประเทศ ในนามของพรรคก.ก. ตนต้องขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกคน ที่สภาแห่งนี้เราน่าจะทำกฎหมายฉบับนี้ได้เร็วกว่านี้ แต่หากเป็นไปได้ ตนว่าการเยียวยา และการคืนความยุติธรรมที่จะเกิดในร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น หากจะมีขึ้นจริง ก็ขอให้ไม่มีใครที่ต้องตกเป็นผู้สูญหาย หรือถูกกระทำทรมานอีก ขอให้กฎหมายนี้จบในรุ่นเราจริง
จากนั้นนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในประเทศที่การซ้อมอุ้มฆ่ายังเกิดอย่างต่อเนื่องมา10 ปี โดยที่เราไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย เกิดจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมของประเทศนี้ ประเทศนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสงสัยและไม่มีคำตอบ ในประเทศที่กลัวความจริง ตนสงสัยว่าประเทศเรามีคุกลับจริงหรือไม่ ตนและประชาชนที่สงสัยจะถามใครได้ว่ามีคุกลับจริงหรือไม่ในพ.ศ.นี้ ตนจึงต้องยืนขึ้นเพื่อสนับสนุนร่างฯฉบับของกมธ.กฎหมายฯ
“รัฐบาลไม่เคยแสดงความจริงใจที่จะทำให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นมา เห็นได้จากที่องค์การสหประชาชาติได้เคยยื่นจดหมายขอเข้ามาทำงานด้านนี้ แต่ถูกตามประกบทั้งในที่พัก และสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดจึงเป็นการปฏิบัติการเพื่อชะลอความจริง เป็นการปฏิบัติการเพื่อต่อลมหายใจให้ผู้นำโง่โอหังได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่เฉพาะผู้เห็นต่างที่ยังหลบหนีในต่างประเทศแล้วยังตามไปอุ้มเขา แต่ยังมีการคุกคามสื่อมวลชนที่สมรภูมิดินแดง ริดลอนสิทธิเสรีภาพสื่อ จากที่คฝ.ให้สื่อหยุดไลฟ์ และควบคุมตัวสื่อออนไลน์ไม่ให้ทำหน้าที่เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยว ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน หวังจะสมาชิกจะผ่านร่างฯในวาระแรก” นางอมรัตน์ กล่าว
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคนถูกอุ้มหายแล้ว 9 คน จึงเป็นต้นเหตุให้ภาคประชาชนและครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับความเสียหายยื่นร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน ตนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งการรับหลักการครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ ที่ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้เห็นต่างจากรัฐและผู้มีอำนาจ ต้องถูกรุมทุบตี บาดเจ็บล้มตายโดยที่ไม่มีใครกล้าออกมาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้ครอบครัวถูกกระทำ รอคอยความยุติธรรม รวมถึงรอคอยข้อเท็จจริงอย่างไร้จุดหมาย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ครอบครัวใดต้องมาทนทุกข์ และอย่าปล่อยให้มีทุรชนหน้าไหนเหิมเกริมฆ่าชีวิตคน และลอยนวลกว่านี้อีก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่สภาฯจะทำให้ถูกต้องเสียที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน ได้สั่งปิดการประชุม ในเวลา 18.45 น. นัดพิจารณาต่อพรุ่งนี้