นายกฯ แถลงต่อที่ประชุมยูเอ็นจีเอ เน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคี สร้างความสมดุลการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม
เมื่อเวลา 00.00 น. วันที่ 26 ก.ย.(ซึ่งตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly – UNGA76) ภายใต้หัวข้อ การสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหวัง โดยการฟื้นฟูจากโควิด-19 การสร้างอย่างยั่งยืน ตอบรับความต้องการของโลก เคารพสิทธิของผู้คน และการฟื้นฟูของสหประชาชาติ “Building resilience through hope – to recover from COVID-19, rebuild sustainably, respond to the needs of the planet, respect the rights of people, and revitalize the United Nations” ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน ความสามารถที่จะเรียนรู้สู่บริบท “Next Normal” รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภูมิภาค และประการสำคัญ คือ การชะงักงันในการเร่งขับเคลื่อน SDGs ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกในวงกว้าง อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดทำรายงาน Common Agenda ซึ่งเสนอความสำคัญในการร่วมมือกันเพิ่มพลังและสร้างเครือข่ายความร่วมมือพหุภาคี เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมีสันติภาพ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความหวังและความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างโลกของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลที่มีคนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสร่วมกันผลักดันการปฏิรูปความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี ให้สามารถเป็น Driver of Change อย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ประชาคมโลกจึงต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ WHO เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกรวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty ในส่วนของไทยได้พยายามส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เชิญชวนให้มีการใช้ประโยชน์จากหลักการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขตามกรอบเซนไดฯ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างระบบสาธารณสุขของโลกที่มีภูมิต้านทาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608-2613 พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 3 ใน 10 ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาคมโลกร่วมกันผลักดันให้การประชุม COP26 มีพัฒนาการที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ทุกประเทศควรร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสู่ความสมดุลของสรรพสิ่งโดยเฉพาะสร้างสมดุลของการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการเร่งพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงสามารถปรับตัว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายสูงเหมือนเช่นหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมีความสำคัญ โดยเฉพาะการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้จะครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย ที่ผ่านมาไทยได้แสดงบทบาทในฐานะรัฐสมาชิกและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และสร้างสรรค์ อีกทั้งไทยยังเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของสำนักงานสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย และมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศและการฝึกอบรมในภูมิภาค ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพการประชุม Global South-South Development Expo ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ESCAP และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ ในปี 2565
“และในโอกาสประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ไทยจะผลักดันเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลหลังโควิด-19 โดยหวังว่าจะสามารถให้การต้อนรับโลกสู่ไทยภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงตลอดกาล ขอเน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภายใต้กรอบของ UN จะนำเราไปสู่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ และพลังของประชาคมโลกในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน จะนำเราไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายจะผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน พร้อมกับการมีโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว