‘ฝ่ายค้าน’ เตรียมยื่น ป.ป.ช.สอบขยายผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ต.ค.นี้ ส่วนปมสถานภาพการดำรงตำแหน่งนายกฯตาม ม.158 จะยื่นเมื่อมีเหตุ หวั่นขยายอำนาจให้ศาล รธน.เกินจำเป็น
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคพรรคเพื่อไทย แถลงว่า สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติลงนามในญัตติที่จะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้นัดหมายกันเดินทางไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ในวันจันทร์ที่ 4 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งจะยื่นทั้งหมด 4 ชุด ประกอบด้วย ชุดแรก เป็นคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ชุดที่ 2 เป็นตัวนายกฯ ชุดที่ 3 เป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ชุดที่ 4 เป็นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
นายประเสริฐกล่าวว่า ขณะที่ประเด็นที่จะยื่นเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนทั้งหมด 3 เรื่อง เช่น การไม่เข้าโครงการโคแว็กซ์ การผูกขาดเอื้อประโชน์วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า การทุจริตจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ทุจริตการจัดซื้อชุดตรวจ ATK และการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ จัดซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพให้คนไทย และเรื่องที่เกี่ยวกับการออกมติ ครม.ที่ขัดต่อกฎหมาย โดยมีการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา ส่งผลให้เกิดหารขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เอื้อเอกชนรายเดียว ผิดกฎหมายการยางเรื่องการรักษาเสถียรภาพ ทำราคายางลดต่ำเพราะมีการทุ่มราคา
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า 2.กรณีวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 158 เขียนไว้ชัดเจนว่า นายกฯมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจนานเกินไป และเป็นประเด็นในอนาคตอาจต้องมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า เรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกฯรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 158 เขียนชัดว่านายกฯจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ฝ่ายค้านแทบจะไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่ประการใด เพราะชัดเจนในตัวมันเองแล้ว ถ้าตีความแบบฝ่ายค้านตีความ ต้องนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญยังระบุว่า ครม.ที่เป็น ครม.อยู่ก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งนี้ ในการยื่นร้อง ถ้าไม่มีเหตุเกิดขึ้น ศาลก็คงจะไม่น่ารับไว้ เราจึงจะไม่ยื่นในขณะนี้ เพราะยื่นไว้คงไม่เกิดประโยชน์ เราจะพิจารณาเรื่องนี้เมื่อมีเหตุแล้ว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า กฎหมายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน คนที่ตีความเป็นอย่างอื่นเป็นการทำลายกฎหมายสูงสุด ถ้าถึงเวลานายกฯต้องพิจารณาตนเอง ไม่เช่นนั้นท่านจะเป็นคนที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และที่สำคัญคือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า คิดว่าประเด็นนี้อย่างน้อยต้องรอจากบทบัญญัติที่ยึดโยงกันอย่างน้อย 3 มาตรา คือมาตรา 158 ระบุไว้ชัดเจน ซึ่งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ทำเอกสารอธิบายความมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่า เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และหากเรายังปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจนานเท่าไหร่ก็จะเป็นปัญหาทางการเมือง จนเกิดวิกฤต
นายชัยธวัช กล่าวว่า มาตรา 170 ซึ่งมาตรานี้ระบุไว้ชัดเจนว่าความเป็นนายกฯของนายกฯสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา (ตามมาตรา 158) และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ครม.ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ก็ให้ถือเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย และ 2.หากเราดูบทเฉพาะกาลมาตรานี้จะมีการยกเว้นลักษณะต้องห้าม และเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี แต่ไม่มีมาตราไหนเลยที่จะยกเว้นมาตรา 170 เรื่องนี้ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในตอนนี้โดยไม่จำเป็นจะเป็นการขยายอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินจำเป็น ทั้งนี้ เราหวังว่านายกฯจะเคารพเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่ตนเองและแม่น้ำหลายๆ สายของตนเองยกร่างเอาไว้
“เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่าไม่จำเป็นต้องรอถึงสิงหาคมปีหน้า ทุกวันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลทราบดีว่าเราอยากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วที่สุดทุกเวลา สิงหาคมปีนี้ยังคิดว่าช้าเกินไป” นายชัยธวัชกล่าว
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช่หรือไม่นั้น นายประเสริฐกล่าวว่า หากนับการดำรงตำแหน่งเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2557 ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้แล้ว ด้าน พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เขาสามารถเสนอได้ ถ้าเป็นลูกพี่ลูกน้องกันอยู่แล้ว แต่ประชาชนต้องตื่นรู้ว่าคุณเป็นรัฐมนตรีได้ไม่กี่วัน 7 ปีบ้านเมืองเราบอบช้ำมามากแล้ว ท่านบริหารประเทศมีแต่ความเหลื่อมล้ำ มีแต่กู้เงินไปใช้แล้วไม่มีอนาคตใช้หนี้ได้ และมีปัญหาสังคมมากมาย วันนี้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้นำที่ประชาชนเลือกจะดีกว่า
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากฝ่ายรัฐบาลจะชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นอำนาจของ กกต.และ ครม.ที่ใช้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญยื่นได้ เราตั้งข้อสังเกตว่าเขาชิงยื่นก่อน ซึ่งเป็นกลไกในการฟอกตัวนายกฯหรือไม่ ถ้า กกต.ยื่นอาจจะเป็นเจตนาบริสุทธิ์ เพราะ กกต.ทราบจะทราบว่าหากจัดการเลือกตั้งจะมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็น ครม.หรือ กกต.ภายใต้อาณัติยื่น อาจจะตีความว่าเป็นการฟอกตัวได้ เชื่อว่าถ้าหากมีการยื่นจริง มีแนวโน้มว่าศาลจะรับคำร้องไว้แน่ เพราะเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นต้น
เมื่อถามว่าหากศาลตีความในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระแล้ว จะเกิดเดดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้ามีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่สิงหาคม 2558 และเมื่อมีการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งไปนั้น มันก็มีผลแน่นอนต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ถามว่าใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะ กกต.ที่ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติการเข้ามาสู่ตำแหน่ง
“ย้ำว่าบทบัญญัติกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน และไม่จำเป็นต้องยื่นแต่อย่างใด เมื่อครบ 24 สิงหาคม มีเจตนารมณ์ดำรงตำแหน่งต่อ เราถึงจะมีหน้าที่ เพราะเราปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาชน” นพ.ชลน่านกล่าว