“จาตุรนต์” ชี้แก้มาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะทางออกในเรื่องนี้ก็คือให้รัฐสภาพิจารณาไปตามกระบวนการของรัฐสภา
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
“เช้าวันนี้ผมในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม OctDem ได้ไปยื่นเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาการเมืองที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก การที่พวกเรามาในวันนี้ เพราะเราเป็นผู้ที่เคยถูกกระทำมาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งมีทั้งการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปราม เข่นฆ่า และใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ต่อนักศึกษาเมื่อ 40 กว่าปีก่อนจนก่อเกิดเป็นความขัดแย้งและเป็นบาดแผลของสังคมไทย
“เราก็ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก”
นักศึกษาเยาวชนในขณะนี้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ที่เขาต้องการเห็นสังคมที่ดีงาม ทางออกที่ดีที่สุดก็คือถ้าต้องมีการดำเนินคดีก็ควรจะเป็นไปตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน ตลอดจนต้องให้มีการหารือกันพูดจากัน
แต่ขณะนี้มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้น หนึ่งในนั้นคือมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งเนื้อหา สาระ และการบังคับใช้ ตั้งแต่ขั้นตอนของการดำเนินคดีที่จะกำหนดว่าใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้, การตั้งข้อหา, การไม่ให้ประกันตัว, การดำเนินคดีที่ใช้เวลายาวนาน และทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งมีการใช้ข้อหานี้ในทางกลั่นแกล้งทำลายผู้ที่เห็นต่างหรือศัตรูคู่แข่งทางการเมืองอยู่เป็นประจำ
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองในสังคม ไม่เป็นผลดีแม้แต่ต่อการที่จะทำให้สถาบันเกิดความมั่นคง ที่สำคัญทั้งกระบวนการเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้ก็ควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายและประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม
ซึ่งการเรียกร้องของนักศึกษาที่ขอให้ยกเลิกมาตรา 112 และมีพรรคการเมืองเสนอเรื่องนี้กันอยู่ ผมคิดว่าการเสนอแก้กฎหมายนี้ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทางออกในเรื่องนี้ก็คือให้รัฐสภาพิจารณาไปตามกระบวนการของรัฐสภา ได้ข้อยุติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ถึงเวลาถ้าได้ข้อยุติแล้ว แต่พรรคการเมืองหรือประชาชนยังต้องการเสนอต่อไปอีก ก็สามารถทำได้ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรไปตัดตอนหรือไปห้ามด้วยเหตุผลว่าข้อเสนอหรือร่างแก้ไขกฎหมายเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาว่าร่างกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขามีขั้นตอนอยู่แล้ว คือหลังรัฐสภาพิจารณาเสร็จก็จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่พิจารณาตั้งแต่ต้นตอนที่เข้าสภา”