“พรรคไทยสร้างไทย”ตั้งเป้าขับเคลื่อนประเทศ สู่สังคม Carbon Neutrality อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อเศรษฐกิจสีเขียว หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายในประเทศ ปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรณรงค์ใช้พลังงานทางเลือก
ในการแสดงวิสัยทัศน์ที่ฟอรั่ม “ท้าเปลี่ยนประเทศไทย” ดิฉันได้จุดประเด็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบัน ประกาศจะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายสังคม Carbon Neutrality ในปี 2050 ทว่ายังไม่มีแนวนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมนำเสนอสู่สังคม …
แต่พรรคไทยสร้างไทย มีคำตอบให้แล้วค่ะ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในโลก ก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่มีความถี่มากขึ้น และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล กรณีของไทย วิกฤติน้ำท่วมในปี พ.ศ.2554 ซึ่งติดอันดับมหันตภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายเป็นอันดับ 4 ของโลกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดิฉันมีความกังวลว่า ประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ของประเทศพัฒนาแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเคยถูกกีดกันการค้าในอุตสาหกรรมประมง เนื่องจากมีการใช้แรงงานเด็ก และมีการละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าว ซึ่งเข้าข่าย IUU Fishing (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ทำให้ประเทศไทยต้องเกิดความเสียหาย 3 ถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบชาวประมงไทย และผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานอย่างมหาศาล
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงาน UN Climate Change Conference (COP26) โดยให้สัญญาว่าจะขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อเข้าสู่สังคม Carbon Neutrality จากปี ค.ศ.2065 เป็น 2050 แต่ปัญหาคือ ประเทศไทย ยังไม่มีการเตรียมตัวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จ
ประการแรก รัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยสนับสนุนธุรกิจรายเล็กให้สามารถเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่น ซึ่งต้องสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เงินช่วยเหลือให้เปล่า และมาตรการลดหย่อนทางภาษี ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พวกเขามีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนไปสู่การผลิตสีเขียวได้มากกว่า ดังนั้น จึงให้ประโยชน์ในมาตรการลดหย่อนทางภาษีอย่างเดียว
ประการที่สอง รัฐบาลต้องมีความจริงใจที่จะสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV car) โดยไม่ตั้งแง่ที่จะบังคับให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีอย่างเดียว หากรถยนต์ไฟฟ้ายังมีไม่มากพอ การสร้างระบบการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย ประกอบกับการส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากขึ้น ย่อมดึงดูดการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้
ประการที่สาม ธุรกิจขนาดใหญ่ และภาครัฐ ต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนไปสู่สังคม Carbon Neutrality ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายควบคุมก๊าซเรือนกระจก และต้องมีการกำหนดแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน
ประการที่สี่ รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมในการลดบทบาทของอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง โดยจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฟอสซิล ให้เป็นพลังงานทางเลือกมากขึ้น รัฐบาลต้องลดอุปสรรคในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ให้ครัวเรือนสามารถขายไปเข้าสู่ Grid ของการไฟฟ้าได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าการไฟฟ้าจะสูญเสียรายได้จากการผูกขาดการผลิตไฟฟ้า
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในประชาคมโลก หลีกหนีไม่พ้นความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การไม่ริเริ่มที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศอย่างจริงจัง นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแล้ว ในอนาคต เราอาจจะถูกลงโทษจากประเทศพัฒนาแล้ว หากไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่พวกเขาได้กำหนด
ดิฉันจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเสนอแนวนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาต่อลูกหลานในอนาคต