มติฝ่ายค้านยก 6 เหตุหนุนรับร่างรธน.ฉบับภาคปชช.วาระ 1 ดักคอส.ส.รบ.-ส.ว. อย่าลืมปชช. “ชัยธวัช”ซัดกลับส.ว.บิดเบือนเนื้อหา จ้องล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบตรวจสอบ
วันที่ 15 พ.ย.64 ที่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ (พช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื้ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย.นี้นั้น เราเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรรับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งเราจะมีเหตุผลคือ
1.มีเจตนา และจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ
2.ปรับโครงสร้างของระบบรัฐสภา จากเดิมที่มีส.ส. และส.ว. ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว
3.การสร้างกลไกในการตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น ให้มีผู้ตรวจการของสภา 3 คณะ ประกอบด้วย ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
4.การปรับโครงสร้างอำนาจ และหน้าที่ขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
5.การยกเลิกการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ที่กระทำการยึดอำนาจทั้งก่อน ปัจจุบัน และในอนาคต โดยการยกเลิกมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญปี 57 ซึ่งจะส่งผลมาถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ในปัจจุบัน
6.การสร้างกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพิ่มกลไกให้เข้มข้นขึ้นโดยการเพิ่มเสียงให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เราเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดอภิปราย ซึ่งเราจะนัดหมายประชุมกันในสัปดาห์หน้าว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องอภิปรายเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ก่อนกำหนดกรอบเวลาอีกครั้ง อีกประเด็นคือ ฝ่ายค้านมีความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เนื่องจากคำวินิจฉัยมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร หากผู้นำไปบังคับใช้ปฏิบัติมิชอบ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็อาจจะสร้างความแตกแยกวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นขอให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติ ทั้งกับผู้ที่ชุมนุม หรือไล่ล่าที่จะยุบพรรค ควรปฏิบัติด้วยความชอบธรรม ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม นอกจากนี้ เรายังกห่วงเรื่องการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ที่มีผู้บาดเจ็บจากอาวุธปืนจากการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เราขอตำหนิการใช้ความรุนแรงแบบนี้ และขอเรียกร้องให้มุกฝ่ายใช้เวทีสภาเพื่อมาพูดคุยกัน โดยเราจะส่งเรื่องให้ กมธ.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และกมธ.พัฒนาการเมือง เข้าไปศึกษา และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตนมองว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 อาจจะเป็นการปลดชนวนความความขัดแย้งก็เป็นได้
ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 จะใช้วิธีขานชื่อทีละคน ขอวิงวอนส.ส.ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน เพราะกว่าเขาจะรวมชื่อกันได้ เขาใช้เวลาหลายเดือน ตนอยากให้เราให้เกียรติพี่น้องประชาชนโดยการรับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งถ้าท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถใช้กระบวนการแปรญัตติเพื่อแก้ไขในวาระที่ 2 ได้
นายชัยธวัช กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในพรุ่งนี้ (16 พ.ย.) ขณะนี้เริ่มมีส.ว.หลายท่านที่ออกมาให้ความคิดเห็นในเชิงบิดเบือนเนื้อหาสาระที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน ใน 2 ประเด็น 1. คือกล่าวหาว่าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นร่างที่จะ ล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบ แต่เราพิจารณากันแล้ว ไม่ได้เห็นว่าร่างนี้จะไปล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบ หรือถ่วงดุลแต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดโยงกับประชาชนและถูกตรวจสอบได้ หากรัฐธรรมนูญออกมาระบบการตรวจสอบตามที่ภาคประชาชนเสนอมานั้น ก็จะทำให้องค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรตุลาการ รวมถึงกองทัพ จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชนด้วยอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่สามารถใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วน สอง คือ การโจมตีกล่าวหาว่า ร่างนี้จะทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจไปในสภาผู้แทนราษฎร นั้น ถือว่าเป่นคำกล่าวที่ผิด เพราะสาระสำคัญ คือทำให้อำนาจของประชาชน เป็นอำนาจที่สูงสุดสะท้อนผ่านรัฐสภา
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมวานนี้ (14 พ.ย.) ในฐานะพรรคก้าวไกล ขอย้ำว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งตระตืนรือร้นในการสืบสวนข้อเท็จจริง นำคนที่กระทำคว่ามผิดใช้กระสุนจริงยิงต่อผู้ชุมนุมมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกวิจารณ์จนเข้าสู่ภาวะวิกฤต จึงอยากให้ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ไม่ใช่กระตืนรือร้นที่จะปราบปรามการแสดงออกของประชาชน เอาแต่ป้ายสีประชาชนว่า เป็นขบวนการล้มล้างการปกครอง”นายชัยธวัช กล่าว