“หมอระวี” เผย “พรรคขนาดกลาง-เล็กจ่อรวมตัวแก้กม.ลูก ชี้ต้องใช้ระบบ MMP คงส.ส.พึงมี ปัดต้นเหตุทำองค์ประชุมไม่ครบ
วันที่ 24 พ.ย.64 ที่รัฐสภา น.พ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า ที่ผ่านมาจุดยืนของพรรคเล็กและพรรคขนาดกลางเราเห็นชอบกับการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็ถือว่าเป็นการจบในประเด็นนี้ แต่ยังเหลือในส่วนของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขเป็นบัตร 2 ใบต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งหากผู้ตรวจการไม่รับพิจารณา ผู้ยื่นสามารถยื่นส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ อาจจะต้องลองดูขั้นตอนนี้ต่อไปด้วย
นพ.ระวี ยังกล่าวถึง ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า เมื่อช่วงเช้ากลุ่มพรรคเล็กและพรรคขนาดกลางได้มีการปรึกษาหารือกัน โดยมีการนัดพูดคุยกันในวันศุกร์ที่ 26 พ.ย.เวลา 12.00 น.ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งจะมีกลุ่มพรรคเล็กที่มีเสียงเดียวที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล,พรรครักษ์ผืนป่า,พรรคเศรษฐกิจใหม่,พรรคพลังท้องถิ่นไทย,พรรคชาติพัฒนา จะมาปรึกษาถึงท่าทีถึงแนวโน้มในการเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อมีความชัดเจนในการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้ว
ต่อจากนี้ความสำคัญจะอยู่ที่การแก้กฎหมายลูกตามร่างของ กกต.รวมถึงพรรคขนาดใหญ่ที่จะเสนอรัฐบาลจะเสนอเป็นการใช้ระบบ mmm ก็คือการเอาคะแนนที่เลือกพรรคทั่วประเทศมารวมกันแล้วหารด้วย 100 จะส่งผลให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ 1 คนต้องได้คะแนนเสียงประมาณ 350,000-380,000 แต่ในความเห็นของกลุ่มพรรคเล็กจะต้องคงหลักการคือ ส.ส.พึงมี และการใช้ระบบ mmp คือการนำ 500 ไปหารจำนวนคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งทั้งหมด
” พรรคเล็กและขนาดกลางจะมีการพูดคุยกันถึงมาตรการในการเสนอ เช่นเราอาจจะไม่เสนอญัตติเข้าไป แต่อาจจะใช้วิธีสงวนแปรญัตติ หรืออาจจะรวมตัวกันเสนอญัตติขึ้นไปทาบเลย เสนอญัตติเดียวหรือเสนอแยกเป็นหลายๆ ญัตติ แยกเป็นทีละประเด็น เพราะหากประเด็นไหนตก บางประเด็นอาจจะชนะได้”นพ.ระวี กล่าว
เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเสรีรวมไทยหรือไม่ นพ.ระวี กล่าวว่า ในส่วนตัวได้มีการพูดคุยกับพรรคขนาดกลางหลายพรรครวมไปถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งอาจจะส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกับเราในวันศุกร์ด้วย ในข้างต้นเราคงจะพูดคุยกับพักหลายๆพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ส่วนกรณีของพรรคก้าวไกลและเสรีรวมไทยเป็นการคุยส่วนตัวไม่เป็นทางการ ทิศทางก็เห็นไปในทางเดียวกัน
เมื่อถามต่อว่า หากการนำเสนอแก้กฎหมายลูกไม่ผ่านตามที่พรรคเล็กเสนอ และต้องใช้ระบบ mmm ท่าทีจะเป็นอย่างไร นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้ก็มีข่าวออกมาว่า พรรคเล็กจะไม่เข้าประชุมสภา ไม่แสดงตน ไม่โหวตกฏหมายทุกฉบับสำคัญให้ ปล่อยสภาล่ม ตนขอปฎิเสธว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง พวกเรามีวุฒิภาวะพอ สิ่งที่จะตัดสินใจก็คือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การทำหน้าที่ในสภาเป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้ เพื่อแก้กฎหมายลูก หากสุดท้าย ไม่ได้เป็นไปตามที่เราเสนอ พรรคแต่ละพรรค ก็คงต้องไปตัดสินใจว่าจะต่อสู้ต่อ หรือจะไปรวมกลุ่มอะไรอย่างไร แต่ในขณะนี้ยังมีระยะเวลา