“ศิธา” เปิดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัล ชี้เป็นโอกาสคนตัวเล็ก สร้างธุรกิจ-สร้างการลงทุน เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
พรรคไทยสร้างไทย นำโดย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้อำนวยคณะกรรมการอำนวยการ และพัฒนาพรรค พร้อมด้วย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน ร่วมกันแถลงเปิดนโยบายสินทรัพย์ดิจิตอล (Digital Asset) ณ ศูนย์อำนวยการพรรคไทยสร้างไทย
น.ต.ศิธา กล่าวว่าประเทศไทยมีจุดแข็งมากมายที่เป็นที่ต้องการของโลก ทั้งด้านอาหาร, การท่องเที่ยว, สุขภาพ, แรงงาน, Soft Power, และทรัพยากรอีกมากมาย โดยสินทรัพย์ดิจิตอล (Digital Asset) และเทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized) จะเป็นสะพานที่เชื่อมต่อให้จุดแข็งดังกล่าวของประเทศไทย ได้ออกสู่เวทีโลกในยุคนี้ และสร้างมูลค่าเพิ่มกลับมายังเศรษฐกิจและประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิตอลและ Blockchain จะทำให้เกิดการกระจายศูนย์ควบคู่กับความเชื่อมั่น (Trust) ที่ทลายกำแพงของตลาดแรงงาน ตลาดการเงิน-การลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้นประเทศไทย จึงต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (Bridge the Gap) ของโลกยุคใหม่และยุคเก่า และต้องเข้าใจหลักประชาธิปไตยที่เป็นหัวใจของการกระจายศูนย์ เข้ามาบริหารประเทศไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสอีกต่อไป
“วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยยุคหลังโควิดคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนตัวเล็ก เพราะเศรษฐกิจประเทศเสียหายไปมาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยติดอันดับต้นของโลก จากการบริหารงานของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจและขาดวิสัยทัศน์ ซึ่งหน้าที่สำคัญของระบบการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินต้องนำมาใช้เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนเกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ห่างกันมากขึ้นแบบวันนี้” น.ต.ศิธา กล่าว
ด้านดร.ธรรมธีร์ กล่าวว่าปัจจุบันการที่ไทยมีกฎหมายทรัพย์สินดิจิทัลเร็วกว่าประเทศอื่น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องพิจารณาเนื้อหาสาระ เป้าหมาย และผลที่ตามมาของกฎหมายนั้น หลังจากบังคับใช้เป็นอย่างไร และควรปรับเปลี่ยนให้เร็วทันโลกด้วย เพราะวันนี้กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เน้นการควบคุมความเสียหายและจัดเก็บภาษี แต่ยังไม่มีกฎหมายในเชิงสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้และหาโอกาสให้กับประเทศไทยและคนตัวเล็กบนเวทีโลกแต่อย่างใด
โลกนวัตกรรมทุกวันนี้ รวมถึงนวัตกรรมการลงทุนและกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ควรใช้กฎหมายในแนวปิดกั้น ด้วยเหตุผลที่กลัวจะเกิดความเสียหายเสียจนไม่สามารถเกิดนวัตกรรมได้ ดังนั้นควรต้องเปลี่ยนความคิดเป็น “ให้ไว้ก่อน โดยใช้วิธีจำกัดวงความเสียหาย” เพื่อทดสอบว่ามีผลดีมากกว่าผลเสียหรือไม่ ซึ่งเป็นการทำ Sandbox ที่ถูกวิธี เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีกระจายศูนย์ สามารถใช้เป็นโอกาสให้กับธุรกิจคนตัวเล็กทั้งสร้างธุรกิจ SME/Startup และแรงงาน ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลก กลายเป็น Global Business และ Workforce ได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน
อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้าสู่โลกการลงทุน จากนโยบายที่ผ่านมาผลคือคนไทยไม่มีการลงทุนที่เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ นักลงทุนรายย่อยของเรามีเพียง 3% ของจำนวนประชากรเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีโอกาสให้คนตัวเล็กได้ลืมตาอ้าปาก ในขณะที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวและมีความรู้กับการเก็บออมและการลงทุนมากกว่ายุคก่อน ๆ โดยเฉพาะในสินทรัพย์ดิจิทัล
“การจะสนับสนุนให้คนตัวเล็กสร้างตัว เก็บออมลงทุน ต้องเปิดกว้างให้กับสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่เพียงแต่จะยกเว้นภาษีเท่านั้น แต่ควรนำมาให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลไม่ต่างจาก RMF-SSF โดยการป้องกันความเสี่ยงสูงจากการลงทุนในระยะแรก อาจจำกัดปริมาณการลงทุนต่อคน และต้องมีความรู้สอบผ่านใบอนุญาตแต่ละระดับจึงจะสามารถลงทุนโดยไม่จำกัดปริมาณได้ เพราะสินทรัพย์ใดๆก็ตาม หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นก็ถือว่ามีความเสี่ยงทั้งนั้น หากมีความรู้ ความเสี่ยงของบุคคลนั้นก็จะต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยประสบความสำเร็จในตลาดโลกมากขึ้น” ดร.ธรรมธีร์กล่าว