วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“พท.”แนะแก้รธน.หลุดพ้น“เผด็จการ” ห่วง“บิ๊กตู่”ทำประเทศหายนะแบบช้าๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พท.”แนะแก้รธน.หลุดพ้น“เผด็จการ” ห่วง“บิ๊กตู่”ทำประเทศหายนะแบบช้าๆ

“พิชัย” ห่วง “ประยุทธ์” ทำไทย “หายนะในแบบช้าๆ” ชี้ แม้ทุนสำรองมาก แต่ทุกอย่างเสื่อมถอย ไม่มีแนวทางการพัฒนา สูญเสียการนำในอาเซียน แนะ แก้รัฐธรรมนูญ หลุดพ้นเผด็จการแบบเกาหลีใต้ ไทยถึงจะรอด

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับที่สูงถึง 2.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง และน่าจะเป็นจุดแข็งจุดเดียวที่ประเทศไทยยังมีอยู่ โดยเกิดจากการสะสมเงินตราต่างประเทศมาหลายรัฐบาลตั้งแต่หลังต้มยำกุ้งที่ทุนสำรองหายไปหมดจากการที่แบงค์ชาติไปสู้ค่าเงินบาท

ดังนั้นจึงเป็นบุญเก่าที่ประเทศไทยสะสมมา แต่กลับไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเลย ประเทศไทยมีแต่จะเสื่อมถอยในทุกด้าน และมีแนวโน้มที่แย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนที่บทวิเคราะห์ของสื่อหลักต่างประเทศ นิเคอิ เอเชีย วิเคราะห์ไว้ว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ว่าประเทศไทยจะเป็น “หายนะในแบบช้าๆ” (Disaster in Slow Motion) ซึ่งคล้ายกับทฤษฎีกบต้มที่ผมเคยเตือนไว้แล้ว แต่ถูกพลเอกประยุทธ์ส่งคนมาดำเนินคดีกับผม

การที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมาก แต่ประเทศไทยกลับไม่พัฒนาหรือมีการพัฒนาน้อยมาก เป็นความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์มากกว่าจะเป็นผลงาน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง มีรถไฟความเร็วสูงเพียง 3.5 กม. ใช้เวลาก่อสร้างถึง 2 ปีครึ่ง แทนที่จะมีรถไฟความเร็วสูงจาก กรุงเทพฯ ถึงหนองคายเชื่อมไปลาวต่อไปถึงจีนแล้ว อีกทั้งควรมี รถไฟความเร็วสูงถึงเชียงใหม่ และเชื่อมลงไปทางใต้ถึงประเทศมาเลเซีย แถมค่าทางด่วนที่ขึ้นราคาแพงมหาโหด ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินและค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้าที่แพงติดอันดับโลก

ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชนที่ต่ำเตี้ยยิ่งตอกย้ำปัญหาให้มากยิ่งขึ้น คุณภาพการศึกษาที่รั้งท้ายอาเซียน ระบบอินเตอร์เน็ตที่นักเรียนต่างจังหวัด และ ผู้มีรายได้น้อยยังเข้าได้ไม่ทั่วถึง ระบบราชการที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่เกิดได้ยากเพราะติดปัญหาข้อกฏหมายและสภาพแวดล้อม ระบบการจัดการน้ำที่ไม่พัฒนา เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหรือน้ำแล้งทุกปี รายได้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีแต่ต่ำเตี้ยลงมาตลอด เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แล้วการมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากๆจะเกิดประโยชน์อะไร เปรียบเหมือนเศรษฐีที่ทำธุรกิจไม่เป็น ได้แต่รอกินบุญเก่าและรอวันเจ๊งหรือรอวันหมดตัวเท่านั้น

พิชัย นริพทะพันธุ์

ภาวะ “หายนะในแบบช้าๆ” นี้ กลับย่ำแย่กว่าที่สื่อหลักต่างประเทศวิเคราะห์ไว้ตอนต้นปีเสียอีก เพราะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำเตี้ยอาจจะไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงกว่า 9 ล้านล้านบาท และ ทะลุเพดาน 60% จนต้องขยายเพดานหนี้ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นกว่า 14.24 ล้านล้านบาทที่ประชาชนยังไม่รู้จะหารายได้ที่ไหนมาใช้หนี้ หนี้เสี่ยงของธนาคารที่อาจจะเป็นหนี้เสียกว่า 2 ล้านล้านบาท หนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวกว่า 85,000 ล้านบาท คนว่างงานกว่า 870,000 คน สูงสุดใน 20 ปีและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้พลเอกประยุทธ์ยังไม่รู้เลยว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่จะประทุออกมาได้เสมอ และจะเป็นหายนะข้างหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน

ในขณะที่หนี้ต่างๆเพิ่มขึ้นสูง จนเรียกได้ว่า “ประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม” การหารายได้กลับลดลงหมด รัฐเก็บรายได้พลาดเป้ามาเกือบทุกปี ปีที่ผ่านมานี้เก็บรายได้พลาดเป้าไป 3.07 แสนล้านบาท จนเริ่มต้นปีงบประมาณก็ต้องติดลบแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะพลาดเป้าอีกในปีนี้ พลเอกประยุทธ์ต้องใช้เงินเยียวยาโควิดจำนวนมากทำให้ขาดดุลการคลังปีละกว่า 1 ล้านล้านบาทติดกัน 2 ปีซ้อน รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 2 ปี

แม้การส่งออกจะดีขึ้นแต่เงินตราต่างประเทศไหลออกยังมากกว่าไหลเข้า ทำให้รัฐบาลขาดดุลซ้อน คือทั้งขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า อีกทั้งการส่งออกที่ฟื้นก็มาจากบุญเก่า เพราะการลงทุนใหม่มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ในอนาคตประเทศไทยจะพัฒนาอะไรเป็นเครืองจักรของการเจริญเติบโต (Growth Engine) ยังไม่เห็นเลย ที่คาดหวังว่า EEC จะมีการลงทุนมากกลับเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแนวคิดตกยุคและหมดสมัยแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์กลับไม่เข้าใจ

ประเทศสูญเสียความเป็นผู้นำของภูมิถาคไปเรื่อยๆ ทั้งการเสียศูนย์กลางการขนส่งทางรางไปให้กับประเทศลาว หลังจากที่รถไฟความเร็วสูงของ จีน- ลาว เสร็จ เพราะกว่าไทยจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเสร็จ ประเทศลาวคงพัฒนาต่อไปไกลแล้ว ไทยเสียศูนย์กลางผลิตรถยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ให้กับประเทศอินโดนีเชีย และอินโดนีเซียกลายเป็นผู้นำทางด้านบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไปแล้ว เนื่องจากมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีการพัฒนาด้านนี้มาก

อีกทั้งมีประชากรกว่า 277 ล้านคนรองรับ ประเทศไทยสูญเสียการเป็นศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคให้กับเวียดนาม โดยบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่แห่กันไปลงทุนในประเทศเวียดนามกันหมด และยอดการส่งออกของเวียดนามก็แซงการส่งออกของไทยมาหลายปีแล้ว ซึ่งแซงแล้วแซงเลย เพราะการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามก็มีมากกว่าไทยมาก

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยที่ช่องว่างของคนรวยและคนจนต่างกันมาก และเป็นเรื่องใหญ่ที่ไทยติดอันดับ 1 ในความเหลื่อมล้ำของโลกหลังจากที่พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศเพียงไม่กี่ปี โดยมาเปิดเผยให้เห็นสาเหตุที่ชัดเจนจากคำพูดของพลเอกประยุทธ์ที่บอกว่าคนรวยใช้ทางด่วน คนจนวิ่งทางข้างล่างถือเป็นความเท่าเทียม เพราะหลักคิดนี้เจ้าสัวไทยถึงได้รวยขึ้นมากในขณะที่คนจนไทยยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งชาวนา กรรมกร เกษตรกร ลูกจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานกลางคืน นักศึกษาจบใหม่ที่หางานทำไม่ได้ ฯลฯ และคนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลงไปอีก

ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองต่างประเทศในระดับสูงแต่ประเทศกลับไม่พัฒนา กลับกลายเป็นปัญหามากกว่า เพราะผู้นำที่ขาดความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจจะคิดว่าประเทศกำลังไปได้ดี ทั้งที่ความจริงประเทศกำลังเสื่อมถอยอย่างหนัก เงินทุนสำรองต่างประเทศที่สูงกลับกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่ผลักดันให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลง เพราะหากประเทศไทยขาดเงินทุนสำรองนี้ ประเทศไทยจะต้องรีบปรับตัวก่อนที่จะพังกันหมด แต่นี่กลับกลายเป็นการถ่วงการเปลี่ยนแปลงแต่สุดท้ายก็จะพังหมดอยู่ดี ยิ่งเปลี่ยนแปลงช้ายิ่งจะพังหนัก

หนทางแก้ไข ซึ่งอยู่ในช่วงวันรัฐธรรมนูญนี้ จึงอยากเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กำจัดการสืบทอดของเผด็จการ ซึ่งจะทำให้ไทยได้ผู้นำที่มาจากประชาชนและมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้นำที่ตกยุคแต่อาศัยรัฐธรรมนูญและเสียง สว. โหวตเข้ามาเป็นนายกฯ ซึ่งทำให้ประเทศไม่ไปไหน และจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ อยากให้ดูประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง หลังจากหลุดพ้นจากระบบเผด็จการ ประเทศเกาหลีใต้พัฒนาไปได้ไกลมากในทุกด้าน ประเทศไทยควรจะต้องยึดเป็นแบบอย่างเช่นกัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img