“สมศักดิ์” รับแนวทางนายกฯ ปมลดโทษคดีทุจริต ชี้เป็นทางออกที่ดี ลั่น “ไม่อยากจะช่วยนักหรอก คนทุจริตต่อหน้าที่” ระบุเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติแต่เดิม
วันที่ 13 ธ.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การเสนออภัยโทษให้ผู้ต้องขังในคดีทุจริต ว่า ต้องขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ชี้แนะให้ทุกฝ่ายทำการบ้านให้มากขึ้น รวมถึงให้ดูความพอดีเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางออกที่ดีที่สุดของการทำเดินการ ทั้งนี้การลดโทษมีทั้งผู้ที่ได้และไม่ได้ประโยชน์จากพ.ร.ฎ.อภัยโทษ
โดยขอเน้นไปที่กลุ่มคดีอาญาไม่ร้ายแรงและกลุ่มคดีอาญาร้ายแรง คือ บุคคลที่ทำผิดต่อหน้าที่หรือทำผิดต่อเจ้าหน้าที่ คดีข่มขืน คดีฆ่าคน รวมทั้งคดีโครงการทุจริตจำนำข้าว ถึงแม้จะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมก็จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 ซึ่งมีการดำเนินการเป็นกลุ่มๆ ในพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ฉะนั้นการปรับแก้ในแนวทางต่างๆ จะมีผลกระทบต่อคนกลุ่มนั้น เช่น การฆ่า การทุจริต หรือโทษที่กระทำกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ หากจะแก้ต้องแก้กันหมด
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้มีการชี้แนะไปแล้ว ถือเป็นทางออกอย่างดียิ่ง เช่น คนที่ได้รับโทษจากคดีจำนำข้าว ก็ได้รับการลดหย่อนโทษไปหลายครั้ง และก่อนหน้าก็ไม่มีการเตรียมปรับแก้อะไร เพราะไม่มีใครทวงถาม ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษแต่ละครั้งเป็นความลับ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รู้อะไรกันมากมาย ดังนั้นถ้าจะปรับแก้ทั้งหมดเลยจะกระทบกับคนหลายกลุ่ม สุดท้ายหากจะมีการแก้ไขก็ต้องให้ผู้ที่มีความรู้มาช่วยกันคิด เพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตามพ.ร.ฎ.อภัยโทษ มีตั้งแต่ปี 2459 มีมาทั้งหมด 52 ครั้ง เป็นเวลา 105 ปี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะทำตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี และขอย้ำว่าหากเราแก้ในคดีอาญาร้ายแรง ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากปรับทั้งหมดคิดว่าจะกระทบ เช่น กลุ่มเดินขบวน จะเอาด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะต้องปรับไปทั้งกลุ่มตามข้อเสนอ ส่วนหากมีการปรับแก้เรื่องดังกล่าวนี้ จะกระทบกับผู้ชุมนุมหมายความว่าอย่างไรนั้นการชุมนุมหากมีความผิด ก็เหมือนกับเป็นความผิดอาญาร้ายแรง ซึ่งก็จะได้ลดโทษ 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน จะไปเอา 1 ใน 5 ทั้งกลุ่มหรือไม่ หรือจะแยกต่างหากก็ไปว่ากัน ผู้รู้ทางกฎหมายต้องไปศึกษาว่าจะเอาอย่างไรตนเองรับได้ทั้งนั้น ส่วนตัวไม่อยากจะช่วยนักหรอก คนที่ทุจริตต่อหน้าที่ เดิมมันเป็นไปตามกรอบแนวปฎิบัติอยู่