“บัญญัติ บรรทัดฐาน” แนะจับตาการเมืองฮอตปรอทแตกปี 65 ฟันธง “รัฐนาวาตู่” เสือลำบาก สารพัดปัญหารุมเร้า
วันที่ 2 ม.ค.65 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายก ฯกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 65 ว่า อยากให้สมญานามว่า การเมือง การเลือกตั้ง หรือ การเมือง ร้อนแรงไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อไหนดี เพราะสถานการณ์ดูจะเหมือนทั้งสองอย่าง บอกว่าอาจจะเป็นปีของการเลือกตั้งเพราะว่า เริ่มต้นเดือนมกราคมก็มีการเลือกตั้งซ่อมถึง 3 ที่ ทั้งจ.ชุมพร จ.สงขลา และกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกที่ยังไม่ได้เลือก คือ เลือกตั้งกรุงเทพฯและสมาชิกสภากรุงเทพฯรวมถึงเมืองพัทยาด้วย ซึ่งคาดหมายว่าต้องเลือกในปี 65 ซึ่งรัฐบาลก็ได้ขานรับแล้วว่าจะเป็นกลางปี แต่ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นต้นปีก็ได้ เพราะกระทรวงมหาดไทยได้ตอบกระทู้ถามในสภาเรื่องการเลือกตั้งของกรุงเทพฯทำให้โทนก็ออกในทำนองนี้ เพราะอยู่ระหว่างการเตรียมการ เร่งรัดอยู่เหมือนกัน ภายใต้การเมืองที่ร้อนแรงแบบสุดๆ การเลือกตั้งทั่วไป ก็อาจจะต้องเลือกตั้งในปี 65 ด้วยเหมือนกัน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่ได้อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยก็คงอยากอยู่เป็นประธานเอเปค หรืออยากจะอยู่ครบเทอม แต่ดูๆแล้วภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนสุดๆในปีหน้า เห็นทีจะข้ามปีพ.ศ.2565 ลำบาก
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งหากดูกฎเกณฑ์ ดูตามระบบประชาธิปไตยก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จะมีผลทำให้การเมืองร้อนก็คือ ช่วงหลังเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งออกนอกรูป นอกแบบกันมากขึ้น ใช้ทุน และอิทธิฤทธิ์มากขึ้น ที่ชัดที่สุดคือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เมื่อปีที่แล้ว 63 และนายกฯเทศมนตรี และล่าสุดเลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)และสมาชิกอบต. ทั่วประเทศ ทำให้คนโจษขานกันมากว่าใช้เงินใช้ทองกันอย่างโจ๋งครึ่ม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นนี้ก็น่าประหลาด ว่าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)เอง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องไม่ได้มีทุกข์ร้อนอะไรเลย แต่กลับบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร มีร้องเรียนมาบางซึ่งเป็นเรื่องปกติ ตรงนี้น่าวิตกเพราะว่าถ้าเราปล่อยให้กระบวนการการเลือกตั้งใช้อิทธิฤทธิ์ใช้อิทธิพลกันมากเช่นนี้และบังเอิญชาวบ้านก็ลำบากด้วยจะทำให้กลายเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ การเลือกตั้งในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นอาจจะถูกเรียกขานหรืออาจกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกก็เป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เหมือนประวัติศาสตร์การเมืองของเรามันย้อนถอยหลังไปปีพ.ศ. 2500 ซึ่ง ขณะนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปในรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีเหตุมีผลที่จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก เพราะมีการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาและธรรมศาสตร์ เกิดเหตุวิกฤตจนทำให้เกิดการยึดอำนาจ ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียกร้องคือ ให้ กกต.หันกลับมาดูความเป็นจริงในบ้านเมืองและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง
“โครงการที่เคยพูดจากันไว้อย่างเช่น โครงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หรือโครงการสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักรู้พิษภัยของการซื้อสิทธิ์ขายเสียง กกต.จึงควรหันกลับมาทำอย่างจริงจังเสียที การอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.)ควรยกเลิกได้แล้ว เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อะไรมากไปกว่านำคนที่ได้เปรียบทางสังคมมาเจอกัน อยากแนะนำกกต.ให้ไปจับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีอยู่ทั่วประเทศ ลงไปให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้คนในชนบท ผมว่านั่นแหละคือวิถีทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องและน่าทำเป็นที่สุด มิฉะนั้นแล้วโอกาสที่การเมืองจะถอยหลังไปสู่ปี 2500 อย่างผมว่าก็เกิดขึ้นได้ นี่คือความร้อนแรงที่น่ากังวลของปี 65” นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนความร้อนแรงก็มาจากรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ ซึ่งในสมัยเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในเดือนมี.ค. 65 คาดหมายได้ว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้านจะต้องเริ่มขึ้น ความจริงการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามันเริ่มขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองดูจะมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาโควิดที่ระบาดและผลกระทบ ทั้งเศรษฐกิจ คนตกงาน ผู้ประกอบการ ขนาดเล็ก ขนาดย่อย มีปัญหามากมาย การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการนำรายได้เข้าประเทศก็หายจนหมด ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจัดการได้เรียบร้อยมากน้อยเพียงใด หากรัฐบาลจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับการอยู่นานของนายกฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าอยู่มานานมากแล้ว ถ้าเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็ 2 เทอมเข้าให้แล้ว ในทางการเมืองย่อมเข้าใจกันดีว่าผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองที่อยู่นาน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยั่วยุให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรงได้แน่นอน ตรงนี้ก็จะเป็นความร้อนแรงที่ดูจะเริ่มเกิดขึ้นในตอนต้นสมัยประชุมของปีต่อไป
นายบัญญัติ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการทางสภาฯ นอกเหนือจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะร้อนแรงมากอย่างที่ว่าแล้ว ตนคิดว่าจะมีกระบวนการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่นับเป็นความล้าหลังของรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะๆ อาจจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้าชื่อกันเองหรือการเข้าชื่อของประชาชนทั่วไปซึ่งก็ทำกันอยู่แล้ว ก็น่าจะกระทำกันมากขึ้น ตนคิดว่าประเด็นเหล่านี้จะเพิ่มเติมให้เกิดความร้อนแรงทางการเมืองได้เช่นกัน ประเด็นปัญหาของสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวขานว่าเกินอำนาจที่พึงมีของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาท้าทายความคิดอ่านของท่านสมาชิกหรือของสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้น่าเสียดายเพราะหากคราวที่แล้วเราปล่อยให้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอยกร่างใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ให้เดินไปตามจังหวะ นอกจากจะเป็นการคลี่คลายความอึดอัดตรงนี้แล้ว ยังเป็นการดึงนำคนหลายกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่ส.ส.ร. อาจจะเป็นหนทางหนึ่งของการสมานฉันท์ทางการเมืองซึ่งเป็นจุดที่นับวันจะจำเป็นมากขึ้นกับประเทศเรา แต่กลับถูกคว่ำไป ทำให้ปัญหาคาราคาซังอยู่และจะมีคนจุดชนวนขึ้นอีก
“แต่ประเด็นที่ใหญ่ที่ร้อนมากที่สุดซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความร้อนแรงทั้งในสภาและบนท้องถนนรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญงานจะเข้าด้วย เพราะการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯมันสิ้นสุดลงตรงไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปเขียนบัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ครั้งนี้จะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ หมายความว่าคนๆหนึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรี สรุปนับรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นแล้วหยุดหรือหยุดแล้วเป็นก็แล้วแต่ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลรับรองเอาไว้ว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้เคยมีนักวิชาการตีความไว้ด้วยว่า อย่างนี้ต้องนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ว่าไม่ได้เป็นตามรัฐธรรมนูญนี้แต่เมื่อมีบทบัญญัติบอกว่าให้ถือเป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้ อย่างนี้ก็น่าจะครบกำหนด8 ปีในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. 2565 เพราะฉะนั้นเมื่อใกล้เดือนสิงหาคมปีพ.ศ. 2565 ผมมั่นใจว่าคงจะมีคนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถามหาความถูกต้องเป็นจริงกันอีกครั้ง ตรงนี้จึงบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะงานเข้าอีกเพราะว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องวินิจฉัยว่าตกลงนับหนึ่งเมื่อไหร่นับตั้งแต่ปี 57 เมื่อนายกฯเข้ามารับตำแหน่งครั้งแรก หรือนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้เมื่อปีพ.ศ.2560 หรือจะนับจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ในปี 62 ตั้งแต่วันโปรดเกล้า แต่ทั้งนี้จะเป็นประเด็นร้อนทั้งในศาลรัฐธรรมนูญในรัฐสภาและทั้งบนถนนที่มีการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีกันอยู่แล้ว ซึ่งบทสรุปที่เขียนไว้เช่นนี้คงเขียนเพื่อไม่ให้ใครก็ตามที่มีอำนาจนานจะลืมตัวมัวเมาอำนาจและใช้อำนาจในทางที่เสียหาย ทั้งหมดนี้จะเป็นบรรยากาศของความร้อนสุดๆทางการเมืองก็ว่าได้
นายบัญญัติ กล่าวว่า ฉะนั้นที่คิดว่าจะอยู่ให้ครบเทอมครบวาระ ก็ไม่แน่ว่าจะพ้นปี 2565 ได้หรือไม่ ยิ่งประเด็นความขัดแย้งในแต่ละที่แต่ละแห่งการช่วงชิงได้รับความเสียเปรียบในระหว่างกันเองที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆจะเพิ่มความร้อนแรงได้เช่นดกัน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก โควิด-19 ให้ได้ด้วย ซึ่งที่แล้วมาก็ถือว่าดีพอสมควรจากความเข้มแข็งของบุคคลากรสาธารณสุขประเทศเรา แต่เมื่อมีเชื้อตัวใหม่อย่างโอมิครอนเข้ามาจะเป็นอย่างไรอีก ถ้าเอาไม่อยู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มันมีอยู่แล้วมันก็จะแรงเข้าไปอีก คนตกงานมากกว่าเดิม คนลำบากมากขึ้นไปอีกเหล่านี้จะมีส่วนเติมความเร่าร้อนให้การเมืองได้ทั้งหมด
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนที่รัฐบาลออกโครงการแจกเงินเข้าแอพทั้งหลายนั้น คนก็เป็นห่วงมากเช่นกัน แต่ก็เห็นใจรัฐบาล เมื่อเศรษฐกิจมันซบเซา การจะดำเนินการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน แต่ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ก็คือพอหมุนเวียนหมดก็จบไป เป็นไปได้หรือไม่ว่าการใช้เงินเหล่านี้ถ้าใช้ไปในลักษณะสร้างงานใหม่ที่พอเหมาะพอควรตามความสามารถของแต่ละบุคคลมันจะยั่งยืนถาวรกว่าหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่ายจริงๆ และหลายคนก็พูดถึงระบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 กันอยู่ ว่าการรู้ตัวเอง รู้จักพอประมาณ รู้จักมีเหตุมีผล กับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีคนใช้ ซึ่งบางครั้งก็มองได้เหมือนกันว่า ยังส่งเสริมให้มีการฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยกันหรือไม่ เคยมีเท่านี้ไม่อยากใช้แต่เมื่อเรามีเงินมาสมทบให้ครึ่งหนึ่ง ก็ยั่วใจให้ใช้จ่าย การใช้จ่ายเช่นนี้มันเข้าลักษณะฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยหรือไม่ และเป็นการเพิ่มหนี้ในส่วนของตน และในส่วนของครัวเรือนซึ่งจำนวนหนี้ครัวเรือนขณะนี้ก็สูงถึงร้อยละ 90 เข้าไปแล้ว และก็เป็นเรื่องที่บรรดา ครูอาจารย์ทั้งหลายทางเศรษฐศาสตร์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังวิตกเป็นทุกข์กันอยู่ ว่าทั้งหนี้สาธารณะก็สูงที่อาจจะต้องขยายเพดานการกู้ หรือทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก เราไม่คิดที่จะก่อให้เกิดความยับยั้งช่างใจกันบ้างหรือ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนให้ปี 2565 เป็นปีที่น่ากลัวอีกเช่นกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายมองว่าหากมีการยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีเข้าข่ายสนับสนุนให้มีการล้มล้างการปกครอง จะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า ตรงนี้คือสิ่งที่เรียกว่า การช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ซึ่งจะเป็นตัวเติมความร้อนแรงให้กับการเมืองในปี 65 เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นอยู่แล้วว่าอะไรที่เปิดช่องน่าจะตีความกฎหมายไปทางนั้นได้ ซึ่งจะตีได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนที่ยกมาดำเนินการให้เป็นเรื่องเป็นราว ภาครัฐเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขยันสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย ปล่อยให้ตีความกันเอาเองอยู่เรื่อยๆ เป็นการเติมความร้อนให้ทางการเมืองอย่างไม่จบไม่สิ้น และที่คิดว่าสำคัญมากจะเรียกว่าเป็นการตลาดนำการเมืองก็ได้ คือการใส่สีสันเข้าไปให้ดูตื่นเต้น น่าตกใจ และหลายเรื่องมันก็จบแบบไม่เป็นไปอย่างที่ว่า แต่ก็ยังนิยมทำกันอยู่ กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่องค์กรอิสระ ไม่ขยันทำความเข้าใจกับผู้คนแล้ว บางทีจะทำให้ผู้คนเขารำคาญการเมืองได้เช่นกันว่าอะไรกันมากมายไม่จบไม่สิ้น
“ในประชาธิปไตยถ้าเราทำให้คนเขาเบื่อรำคาญก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลต่อระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องให้ประชาชนมีความหนักแน่นด้วยเหมือนกัน ว่าเวลาที่นักการเมืองเขาทะเลาะกันอย่าพึ่งรำคาญฟังให้ชัดๆซะก่อนว่าที่เขาทำมีเหตุมีผลอย่างไร ทำเพื่อการตลาดนำการเมืองหรือ ทำไปด้วยความสุจริตใจเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ อย่าพึ่งรำคาญตั้งแต่ต้น เพราะว่าถ้ารำคาญกันมากๆก็พาลจะเบื่อประชาธิปไตย” นายบัญญัติ กล่าว