“สาธิต” กำชับกมธ.ทำงานกม.ลูกให้ดีที่สุด ลั่นไม่มีเหตุคว่ำกม.ลูก วาระ 3 ชี้ หากเกิดเดดล็อคทางการเมืองเป็นหน้าที่นายกฯออกพ.ร.ก.ได้
วันที่ 16 มี.ค.65 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่) .. พ.ศ…. ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญฯ เป็นประธานที่ประชุม โดยก่อนเริ่มประชุมนายสาธิตได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าจะคว่ำกฎหมายลูกในวาระ3 นั้น ใครจะคิดตามก็ว่ากันไป แต่ตนขอเรียกร้องทุกฝ่ายว่าเราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราต้องปกป้องกฎหมายที่ดำเนินการโดยสภานิติบัญญัติ ตนยังย้ำว่าฝ่ายนิติบัญญัติเรามีความศักดิ์สิทธิ์ และต้องได้รับความเคารพศรัทธาให้ประชาชนได้เข้าใจมากขึ้นถึงกลไกในกมธ.วิสามัญฯ
“ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันให้สัมภาษณ์ ว่าเราจะต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนในวาระ3 เป็นเรื่องที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะได้ใช้ดุลยพินิจและเหตุผลว่าจะลงมติอย่างไร ก็ขอให้ทุกท่านช่วยกันให้ข้อมูลด้วย” นายสาธิต กล่าว
ทั้งนี้นายสาธิต ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงกระแสข่าวจะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูก ในวาระ 3 ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติมีกระบวนการพิจารณากฎหมายอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่เสนอกฎหมาย ตัวแทนของแต่ละพรรคเป็นกมธ. มีการกลั่นกรอง มีการแสดงความคิดเห็นในชั้นคณะกมธ. และหากไม่เห็นด้วยก็สามารถแปรญัตติได้อีก ถือได้ว่าผ่านกระบวนการแสดงความคิดเห็นและพิจารณากันมา ฉะนั้น จึงมั่นใจว่าจนถึงขณะนี้ไม่มีเหตุใดจะล้มหรือคว่ำกฎหมายลูก ในวาระ3 หากการพิจารณาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่ายังมีบางฝ่ายต้องการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยอาจใช้กมธ.ทำให้เกิดเดดล็อคทางการเมือง นายสาธิต กล่าวว่า ความเห็นนี้อาจเป็นจุดแข็งของคณะกมธ. เพราะเป็นความเห็นต่างในแต่ละฝ่าย แต่สุดท้ายความเห็นที่เป็นอิสระในชั้นกมธ. จะเป็นเกราะป้องกันในข้อสรุปของการแก้ไขกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การลงมติในแต่ละส่วนก็ต้องเป็นไปตามหลักการ ซึ่งหากลงมตินอกหลักการตนก็คงยอมไม่ได้ เพราะเราตกลงกันแล้วในคณะกมธ.
เมื่อถามต่อว่าหากในวาระ 3 กฎหมายลูกถูกตีตกไป จะมีแผนรองรับอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งหากกฎหมายบับนี้ที่เป็นเครื่องมือของการยุบสภา เป็นเครื่องมือของการเตรียมพร้อมเลือกตั้งตกไป ก็จะเกิดเดดล็อค ฉะนั้น หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นในฝ่ายนิติบัญญัติ การนำเสนอเข้ามาหรือการออกประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ก็เป็นอำนาจโดยตรงของนายรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้อยู่นอกเหนือของคณะกมธ. ไปแล้ว