กกต.เตือนผู้สมัครเลือกตั้งกทม.-เมืองพัทยา เช็คคุณสมบัติให้ชัวร์ หากขาดคุณสมบัติแล้วมาสมัครมีโทษหนัก พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว-วอร์รูมการข่าวป้องกันทำผิดเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.65 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ในหัวข้อ “ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา” ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษ ทั้งการปกครองรูปแบบพิเศษ และมีการโหมโรงการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก รวมทั้งพรรคการเมืองให้ความสนใจส่งผู้สมัครในนามพรรค ทั้งผู้ว่าฯกทม. และส.ก. โดยมีความซับซ้อนในเรื่องการหาเสียง ทั้งในส่วนของผู้สมัครผู้ว่า ผู้สมัคร สก. และพรรคการเมืองที่เข้ามาหาเสียงด้วย
ซึ่งการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้มีตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน หน่วยเลือกตั้ง 6,886 หน่วย ทั้งนี้เวลาเลือกตั้งทุกครั้งมักจะเกิดเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติ ว่ากกต.ตรวจคุณสมบัติไม่ดีหรืออย่างไร จึงมีการมาดำเนินคดีตอนหลัง ทำไมไม่คัดตั้งแต่ต้น ยืนยันสำนักงานไม่ได้ละเลยในการตรวจสอบคุณสมบัติ ถ้ามีอยู่ในฐานข้อมูลของรัฐบาลเราตรวจสอบได้ ยกเว้นบางข้อมูลไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลราชการ ข้อมูลเก่าที่ไม่ได้มีการลงในระบบฐานข้อมูล หรือเป็นข้อมูลของผู้สมัครเอง กฎหมายจึงให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง เพราะหากตรวจสอบภายหลังว่าไม่มีคุณสมบัติก็จะถูกดำเนินคดี ส่วนการหาเสียง จะมีเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาเสียง ปัญหาความเป็นกลางทางการเมือง การเบียดบังเวลาหรือทรัพย์สินของรัฐในการหาเสียง เป็นต้น
นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการการนับคะแนน จำนวนบัตรกับผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกัน เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยขั้นตอนที่เรามี แต่อาจจะช้า ไม่มีเคสไหนที่เราตรวจสอบไม่ได้ ทั้งนี้กฎหมายท้องถิ่นกำหนดว่าหากต่างกันให้ลงคะแนนใหม่ หรือนับคะแนนใหม่เท่านั้น ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดให้เป็นดุลยพินิจของ กกต. ส่วนกรณีที่ผ่านมาคนบอกว่า กกต.เงียบ ไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง ยืนยันว่าเราจะพูดในเรื่องที่คนเข้าใจผิดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของความเห็นเลือกที่จะไม่โต้ตอบ เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ เรื่องความเห็นควรให้องค์กรที่มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า ยืนยันว่าสำนักงานพยายามแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะนี้ก็มีแนวความคิดนำคะแนนหน้าหน่วยเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ และกำลังมีการพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงแนวทางการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ
ด้าน ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า จากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา การสมัครมีการกระทำผิดมากมาย โดยในการเลือกตั้ง อบจ. มีการร้องเรียน 700 เรื่อง การเลือกตั้งเทศบาล 1,700 เรื่อง การเลือกตั้ง อบต. 1,900 เรื่อง มีทั้งที่มีสาระและไม่เป็นสาระ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีโทษหนัก จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิ 20 ปี โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือการให้หรือสัญญาว่าจะให้ ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น
ทั้งนี้ต้องฝากเตือนผู้สมัครเรื่องคุณสมบัติ เพราะในการสมัครเลือก ส.ว.ที่ผ่านมา มีผู้ขาดคุณสมบัติและกระทำผิดจำนวน 300 คน การเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 200 คน และผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นกว่าพันคน ดังนั้นขณะนี้ถือว่ามีเวลาขอให้ผู้สมัครศึกษาคุณสมบัติตามมาตรา 50 ให้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติระดับเทพ อย่าคิดว่ามีเวลา มีพวก มีเงินเท่านั้นหรือคิดว่าสมัครครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะบางคุณสมบัติท่านจะรู้ตัวท่านเอง เช่นสมัยวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยเป็นเจ้ามือไฮโล ต้องดู 26 วงเล็บ โดยเฉพาะที่เขียนว่า “เคย” คุณสมบัติจะไม่กลับมา ถ้าสมัครแล้วถอนไม่ได้ หรือถ้าได้รับการรับรองผลไปแล้วแต่ต่อมากกต.ตรวจพบส่งศาลก็ต้องโดนใบดำ การจะมาต่อสู้ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติที่ต้องรู้ตัวเอง ดังนั้นให้ระมัดระวังตรวจสอบตัวเองให้ดี
“ที่ผมเป็นห่วงมากคือผู้สมัคร ต้องตรวจคุณสมบัติตัวเองให้ดี พวกที่ก้ำกึ่ง 50/50 เช่น ถูกไล่ออก ไม่แน่ใจอย่ามาสมัคร เพราะเราสามารถตรวจเจอแน่นอน ตอนนี้ยังมีเวลาตัดสินใจ แต่หากไปสมัครแล้วไม่สามารถถอนการสมัครได้ ต้องคิดว่าจะอยู่มีชีวิตปกติทำอะไรก็ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะอยุ่แบบคนถูกเพิกถอนสิทธิ ทำอะไรก็ไม่ได้ เลือกตั้งก็ไม่ได้ ลงสมัครกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้”ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าว
นอกจากนั้นมีรางวัลการให้เบาะแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งสำหรับประชาชน ซึ่งต้องเป็นเบาะแสที่มีข้อมูลนำพาไปสู่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนจนถึงขั้นเอาผิดได้ หากข้อมูลนำไปสู่การไต่สวนของกกต.จังหวัด ก็จะได้รับเงินรางวัล 5000 บาท แต่หากไปถึงชั้นศาลตัดสินก็จะสูงสุด 100,000 บาท อย่างไรก็ตามขอเตือนประชาชนว่าการซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับถึง 100,000 บาท
ดังนั้นต้องเลือกว่าจะเอาเงินพันหรือเงินแสน อย่างก็ตามในการเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยาในครั้งนี้ กกต.ได้ร่วมกับกทม. และจังหวัดชลบุรี จัดชุดเคลื่อนที่เร็วรวม 52 ชุด ชุดการข่าว 13 ชุดส่วนกลาง 10 ชุด มีห้องปฏิบัติการข่าวหากได้ข่าวก็จะส่งข้อมูลไปที่ชุดเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด
ร.ต.อ.ชนินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสื่อนั้น กฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำ แต่ห้ามเผยแพร่ในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส่วนการติดป้ายหาเสียงนั้น กฎหมายกำหนดให้คำนึงถึงความเหมาะสม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่บทบังทัศนียภาพ การจราจร และควาสะอาด ซึ่งหากใครพบว่ามีการทำผิดก็สามารถไปแจ้งความเป็นคดีอาญาตามมาตรา 66 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากการกระทำนั้นมีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะย้อนกลับมาเป็นใบดำได้ ส่วนเรื่องการหาเสียงห้ามหาเสียงหลัง 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง รวมทั้งการกดแชร์โพสต์หาเสียงในสื่อโซเชียลก็จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงด้วย