“สาธิต” เผยถกกฎหมายลูก 2 ฉบับราบรื่น ตั้งเป้ายื่น “ชวน” 24 พ.ค. ลุ้นปมพรรคเล็กยื่นตีความบัตร 2 ใบ ถ้าศาลตัดสินไม่ชอบ ส่อกลับไปใช้กม.เดิม
วันที่ 21 เม.ย. 65 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ว่า สาระสำคัญของการประชุมวันนี้ก็จะมีเรื่องไพรมารีโหวต และอาจจะมีเรื่องรายละเอียดบางเรื่อง แต่ไพรมารีโหวตจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนจะมีการลงมติเลยหรือไม่นั้น เมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) ในที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯในการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เป็นไปด้วยดี และพยายามไม่ให้มีการโหวต ถ้าเรื่องไหนมีความเห็นสอดคล้องกันก็จะพยายามตรวจสอบเสียงส่วนใหญ่ ถ้าส่วนไหนไม่มีการแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาวาระ 3 ในสภาฯ ฉะนั้น ในกรณีที่มีการแก้ไขหรือเห็นต่าง มีความจำเป็นจริงๆ จึงจะให้โหวต ส่วนการพิจารณาวันนี้คิดว่าน่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องไหนที่เห็นไม่ตรงกันก็คงจะให้มีการโหวตในประเด็นสำคัญ แต่จะมีการนัดล่วงหน้าเหมือนที่เคยตกลงกันไว้
เมื่อถามว่า มีการวางไทม์ไลน์ที่จะเข้าสู่วาระ 2-3 แล้วหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า มีความตั้งใจตรงกันของเสียงส่วนใหญ่ว่าจะต้องทำให้เสร็จ เพื่อจะยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ภายในวันที่ 24 พ.ค. หลังจากที่มีการเปิดสมัยประชุม ส่วนจะบรรจุวาระไหนก็ขึ้นอยู่กับประธานฯ แต่เราจะทำให้เสร็จ แต่เมื่อวานนี้มีการพูดคุยกันว่าเราเหลือเวลาอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยมีวันหยุดอีก 1 วัน หากช่วงเวลาไม่ทันก็อาจจะเพิ่มวันประชุม เพื่อจะให้เนื้อหาที่พิจารณาเสร็จตามกำหนดตามที่ตกลงกันไว้
เมื่อถามว่า มองปัจจัยภายนอกในสภาและนอกสภา การทำกฎหมายลูกทั้งสองฉบับยังราบรื่นไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ในการทำกฎหมายลูกเลือกตั้งไม่มีปัญหาอะไร แต่มีการใช้สิทธิของหัวหน้าพรรคเล็กที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้หรือไม่ ถ้ามีการรับก็จะนำไปวินิจฉัย แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาเพื่อจะตัดสินว่าจะรับวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ยื่น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไปพิจารณาและตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงก็จะเป็นปัญหา จะทำให้กฎหมายที่เราร่าง พูดง่ายๆ ว่าไม่มีประโยชน์ เพราะจะกลับไปใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดิม ถ้าศาลบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย