“นพ.ชลน่าน” เผยพรุ่งนี้เคาะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะหรือบุคคล ไทม์ไลน์ซักฟอกคาดปลายมิ.ย.รุมถล่มรบ.ช้าสุดต้นก.ค. ชี้สถานการณ์พรรคร่วมอ่อนไหวส่งสัญญาณรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.65 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในยื่นญัญติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า ในวันที่ 26 เม.ย. หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะมีการประชุมผ่านระบบซูม เพื่อกำหนดประเด็นการอภิปรายและติดตามความก้าวหน้า เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเนื้อหาที่จะอภิปราย รวมถึงได้ข้อสรุปว่าจะอธิบายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือจะอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะ
เราได้จัดตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาประเด็นและเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปราย ที่มีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นประธาน คาดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 และวาระ 3 ประมาณกลางเดือนมิ.ย. หรืออย่างช้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย. ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าจะเกิดขึ้น ไม่ปลายเดือน มิ.ย.ก็ต้นเดือนก.ค.
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาประกอบการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ หากกฎหมายลูกไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องไป โดยไม่ต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คือ อายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 65 ส่วนเหตุผลที่เรานำกฎหมายลูกมาเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดช่วงเวลายื่นอภิปราย เพราะเราต้องการให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ ก่อนที่จะมีการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ ไม่เช่นนั้นหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองประเทศจะถึงทางตันไปต่อไม่ได้
เมื่อถามว่า คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะชิงยุบสภาก่อนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่สามารถทราบได้ เพราะเป็นอำนาจของรัฐบาล หากรัฐบาลคิดไม่ดี ต้องการให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง ถ้าถึงจุดนั้นประเทศจะวุ่นวายมาก เพราะยุบสภาแล้วเลือกตั้งไม่ได้ แต่เท่าที่ฟังและรับรายงานจากวงในรัฐบาลก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ เกรงว่าจะมีปัญหาและเกิดทางตัน และเมื่อถึง 24 มี.ค. 66 อายุสภาครบ 4 ปี ก็ยังเลือกตั้งไม่ได้ คำถามคือ รัฐบาลจะต้องรักษาการณ์ไปอีกนานแค่ไหน กลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีสภา ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจไม่ควรคิดแบบนี้ และควรเร่งรัดให้กฎหมายแล้วเสร็จก่อน
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่ส.ส.จะลงมติไม่รับร่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ทางการเมือง แต่นั่นความหมายว่าพรรคร่วมรัฐบาลคิดว่าไปไม่รอดจริงๆ
เมื่อถามว่า การดีลส.ส. 30 เสียงจากฝ่ายรัฐบาลให้มาอยู่ฝ่ายค้าน เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อมูลที่ใช้ในการอภิปรายเป็นตัวโน้มแนวส.ส. 30 เสียง มาร่วมลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรี ส่วนจะมีการประสานบุคคลหรือพรรคการเมืองต่างๆ หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ หากมีความจำเป็นต้องพูดคุยกันเพื่อบ้านเมือง ก็เป็นวิธีการที่ไม่เสียหายอะไร
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามีโอกาสพูดคุยกับพรรรคเศรษฐกิจไทยของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในมิติทางการเมืองเราต้องพยายามอยู่แล้ว เราไม่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่หลายพรรคต้องรักษามารยาททางการเมือง เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากออกมาทำอะไรโจ่งแจ้งก็จะกระทบกับการทำงานได้
เมื่อถามว่า มีโอกาสเกิดแผนล้มพล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้งหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ฝั่งรัฐบาล แต่สถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างอ่อนไหว เพราะมันเกิดปรากฎการณ์พรรคการเมืองปล่อยให้ส.ส.ลาออก หรือย้ายพรรค เลือกตั้งซ่อมก็ไม่ส่ง มันเป็นสัญญาณเสมือนว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่ยาว.