“กมธ.กฎหมายลูก” เคาะแยกโทษผู้กระทำผิดผู้สมัครเขต-ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ -พรรคการเมือง ครอบคลุมชัดเจนยิ่งขึ้น ปิดช่องยุบพรรคการเมือง เหตุกฎหมายเลือกตั้งมีโทษในตัวเอง แจกใบแดง- เหลือง-ส้ม
วันที่ 27 เม.ย. 65 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… แถลงภายหลังการประชุมกมธ.วิสามัญฯว่า ที่ประชุมได้พิจารณา ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส. ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส.โดยที่ประชุมได้พิจารณาความหมายของคำว่า “บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง”ว่ามีความหมายเพียงใด และครอบคลุมคำว่า “พรรคการเมือง” หรือไม่ โดยที่ประชุมว่าควรเพิ่ม “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” เป็น “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือพรรคการเมืองใด” เพื่อให้ความในร่างมีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส. ที่เพิ่มเติมคำว่า “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” จะมีนัยะส่งผลต่อการปฏิบัติใดบ้างในอนาคต นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นความชัดเจนถึงผู้กระทำผิดว่าเป็นบุคคลของพรรคการเมือง หรือเป็นตัวพรรคการเมืองเอง เพราะคำว่าบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง อาจหมายถึงแค่คนๆเดียว ไม่ได้หมายถึงทุกคนที่เป็นบัญชีรายชื่อ หรือไม่ได้เป็นนโยบายของพรรคที่จะกระทำการทุจริต กมธ.วิสามัญฯจึงมีความเห็นว่าเพื่อความชัดเจนว่าใครผิดมาตรานี้จึงแยกระหว่างผู้สมัครเขต ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมือง ส่วนประเด็นการเปิดช่องเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น กฎหมายเลือกตั้งมีโทษในตัวของมันเอง ไม่ใช่โทษการยุบพรรค แต่เป็นโทษใบแดง ใบเหลือง และใบส้ม ฉะนั้นจึงไม่รวมเรื่องคดีทางการเมืองหรือการยุบพรรคแต่อย่างใด
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 13 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 84 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น ที่ประชุมพิจารณาประเด็นออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีอื่น ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ.วิสามัญฯมีความเห็นเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการกำหนดเรื่องการออกเสียงด้วยวิธีการลงคะแนนด้วยวิธีการอื่น นอกจากการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง อาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ เช่น การลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าถ้ายืนตามร่างที่ไม่มีการแก้ไข คือร่างเก่าจะมีการเขียนว่าการลงคะแนนสามารถทำโดยวิธีบัตรหรือวิธีการอื่นๆก็ได้ ตามที่กกต.กำหนด แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้กำหนดไว้ว่าต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเท่านั้น จึงทำให้ติดขัดในการพัฒนาระบบการลงคะแนนด้วยวิธีอื่นๆ อยู่ที่ว่าถ้าเรายอมรับข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีแค่บัตรที่เป็นกระดาษเท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขอให้มีการตีความรัฐธรรมนูญว่าบัตรเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนไปเป็นวิธีอื่นได้ กมธ.ก็จะพิจารณาให้มีวิธีอื่นอยู่ในร่างของกฎหมาย ส่วนฝ่ายที่สองเห็นว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการอื่นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติในการประชุมครั้งต่อไป
เมื่อถามว่า ในประเด็นแก้ไขมาตรา 13 ได้มีการพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญโดยการใช้การตีความอย่างแคบของบัตรเลือกตั้งหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า จะเรียกว่าแคบก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะค่อนข้างตรงไปตรงมา เนื่องจากมีการพูดถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แต่เมื่อเป็นการพูดแบบตรงตัวตามอักษรจะเรียกว่าแคบก็ได้ คือกลายเป็นเรื่องของบัตรเท่านั้น ซึ่งร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของนายวิเชียร ชวลิต อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่างของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และร่างของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตัดเอาเรื่องวิธีอื่นใดออกไปหมด จึงทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะพิจารณาอย่างไร
เมื่อถามว่าแนวโน้มจะเป็นไปอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะถ้าเราเห็นแก่การพัฒนาระบบการเลือกตั้ง เราก็จะขอให้มีการแก้ไขไปเป็นร่างปี 62 แต่ถ้าเราเห็นว่าอยากจะรอบคอบ ไม่ให้มีการตีความหรือส่งกลับของศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะต้องยืนเรื่องการตัดเอาวิธีอื่นออก
เมื่อถามว่า ในกรณีที่กังวลว่าจะถูกส่งตีความในแนวทางที่อาจจะต้องยืนตามร่างหลัก มองว่าจะมีผลกระทบในอนาคตต่อการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหน นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความคิดเห็นส่วนตัวประเด็นแรกในร่างกฎหมายต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคนร้องหรือไม่ ดังนั้นเราก็พยายามลดทอนปัญหา ตนจึงไม่คิดว่ามันจะเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงอะไร แต่ในด้านการปฏิบัติการลงคะแนนด้วยวิธีอื่น เช่น การลงคะแนนด้วยวิธีให้ความเห็นถือว่ามีความพร้อมน้อยมาก เพราะมีจำนวนเครื่องที่น้อยมาก และยังไม่ใช่ระบบออนไลน์ อีกทั้งการออกแบบเครื่องการเปลี่ยนไปตามบัตรเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ได้เป็นดิจิตัลของแท้ที่สามารถโหวตด้วยสมาร์ทโฟน หรือระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ตได้ และยังใม่มีความเชื่อใจด้วยว่าประชาชนที่โหวตด้วยสมาร์ทโฟนจะไม่ให้คนอื่นโหวตให้หรือด้วยระบบยืนยันตัวตน ตนจึงคิดว่าประเทศไทยยังค่อนข้างไกลอยู่สำหรับการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่น