กกต.กทม.ย้ำผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม -ส.ก.หาเสียงได้ก่อน 6 โมงเย็น ขณะที่จนท.สามารถเคลื่อนย้าย ป้ายหาเสียงใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้ง ตามอำนาจม. 74 ป้องกันได้เปรียบ-เสียเปรียบในการลงคะแนน
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 65 นายสำราญ ตันพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร หรือ กกต.กทม. ระบุว่า เมื่อถึง 18.00 น. ผู้สมัครทุกคนต้องยุติการหาเสียงในทุกช่องทาง ที่เคยใช้หาเสียงตามกฎหมาย ยกเว้นเพียงป้ายหาเสียงที่จะจัดเก็บหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในระหว่างนี้ ที่มีการจัดตั้งหน่วย สถานที่เลือกตั้ง
สำหรับการลงคะแนนในวันพรุ่งนี้ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง สามารถเคลื่อนย้าย ปลด หรือขยับป้ายหาเสียงของผู้สมัครได้ หากป้ายดังกล่าวอยู่ใกล้เคียงกับหน่วย เลือกตั้ง ตามอำนาจมาตรา 74 เพื่อไม่ให้ผู้มาใช้สิทธิมองเห็น ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบในการลงคะแนน.
ทั้งนี้วันที่ 21 พ.ค.เป็นวันสุดท้ายของการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ทำให้การหาเสียงวันนี้ คึกคักเป็นการส่งท้าย โดยบรรดาผู้สมัครหลายคน จัดขบวนหาเสียง ด้วยการขึ้นรถแห่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร ย้ำหมายเลขผู้สมัคร เพื่อเป็นการปิดการหาเสียงวันสุดท้าย ซึ่งจะหมดเวลาหาเสียงในเวลา 18.00 น.
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวัน 22 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีชื่ออยู่ โดยเลือกผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถมีคุณธรรม ไปทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง สำหรับวันเลือกตั้ง ก่อนออกจากบ้านอย่าลืมเตรียมหลักฐานแสดงตน นำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบอนุญาตขับขี่ พาสปอร์ต เป็นต้น แต่หากหมดอายุจะใช้ไม่ได้
ส่วนขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบรายชื่อและดูลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ปิดประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง ยื่นหลักฐานแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) แล้วลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อ จากนั้นจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ดังนี้ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะได้รับบัตรเลือกตั้งสีน้ำตาล และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะได้รับบัตรเลือกตั้งสีชมพู ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา จะได้รับบัตรเลือกตั้งสีฟ้า สมาชิกสภาเมืองพัทยา จะได้รับบัตรเลือกตั้งสีส้ม
ทั้งนี้เมื่อได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือบนต้นขั้วบัตร เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมายได้เพียง 1 คน หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด เสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งตามรอยเดิมและนำไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทด้วยตนเอง.