“กกต.” กำชับ “จนท.” จ่ายบัตรเลือกตั้งให้ดี ป้องกันปัญหาบัตรเกิน เหตุคนมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม. แต่ไม่มีสิทธิเลือกส.ก. หวั่นถูกร้องเรียนในภายหลังได้ ส่วนปากกาไม่ควรใช้ปากกาเคมีหรือปากกาน้ำมัน เพราถ้าเลอะเลือนอาจเป็นบัตรเสียได้
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.65 นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ณ เขตดุสิต เขตเลือกตั้งที่ 1 แขวงถนนนครไชยศรี หน่วยเลือกตั้งที่ 23 วิทยาลัยเทคโนโลยีวิมลศรีย่าน และตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 4-8 ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงวัดเทพศิรินทร์
โดยนายฐิติเชฏฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกกต.ได้ให้แนวทางกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิเลือกได้แค่เฉพาะผู้ว่าฯกทม. แต่ไม่มีสิทธิเลือกส.ก. จึงกำชับทุกหน่วยเลือกตั้งว่า ขอให้ตรวจตราให้ดี หากจ่ายบัตรเลือกตั้งผิดไป จะทำให้จำนวนของบัตรของผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งส.ก.จะเพิ่มขึ้นมา ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนว่าพบบัตรเกินได้ ส่วนที่พบปัญหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดการความสับสนคือนำบัตรเลือกผู้ว่าฯกทม.ไปกากบาทเลือกส.ก. แล้วนำบัตรเลือกส.ก.ไปเลือกผู้ว่าฯกทม.แทน และจะขอเปลี่ยนภายหลัง กรณีนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนได้ รวมทั้งหากกากบาทเลือกผู้สมัครผิดหมายเลขไป จะมาขอแก้ไข ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่า มีหลายหน่วยเลือกตั้ง นำบัตรไปหย่อนในหีบบัตรสลับกัน จึงได้กำชับประธาน กปน. หากพบปัญหาให้รายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้งไว้หรือหากมาพบภายหลัง จะต้องนำหีบบัตรเลือกตั้งให้ผู้แทนหน่วยหรือผู้แทนผู้สมัครได้ดูและต้องจดแจ้งรายงานประจำที่เลือกตั้งเพื่อป้องกันปัญหาการร้องเรียนภายหลังได้ ส่วนปากกา ให้แนวทางว่าต้องทำความสะอาดทุกครึ่งชั่วโมง หากประชาชนนำมาเอง ขอเฉพาะสีน้ำเงิน ห้ามใช้ปากกาน้ำมัน ปากกาเคมี เพราะเวลากากบาทแล้วเลอะเลือนจะทำให้เป็นบัตรเสียได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งกทม.ครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 707,000 คน จึงอยากให้คนเหล่านี้ชวนคนในบ้านออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกัน โดยกกต.จัดการเลือกตั้งแบบมืออาชีพ เพราะได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ ครั้งนี้จะพยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาด คาดหวังว่าออกมาใช้สิทธิมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 เพราะประชาชนมีความตื่นตัวกันมาก