วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"ปลัดกลาโหม"ร่ายยาวแจงแผนลดกำลังพล-เครื่องบิน-เรือดำน้ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปลัดกลาโหม”ร่ายยาวแจงแผนลดกำลังพล-เครื่องบิน-เรือดำน้ำ

“ปลัดกลาโหม” ยันลดนายพล 50% ปี 70 เผยยอดค่ารถประจำตำแหน่งเทียบเท่าขรก.กระทรวงอื่น ลั่นงบลับจำเป็นต่อภารกิจทหาร ระบุเบิกจ่ายต้องรายงาน “นายกฯ -รมว.กลาโหม” ทุก 3 เดือน

วันที่ 18 ก.ค. 65 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 197,292,732,000 ล้านบาท พล.อ.วรเกียรติ​ รัตนา​นนท์​ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวตอบข้อซักถามกมธ.วิสามัญฯ เกี่ยวกับแผนปรับลดกำลังพลว่า ตามนโยบายรมว.กลาโหมจะต้องลดกำลังพลภาพรวมให้ได้ 5% ในปี 2570 ส่วนเกณฑ์ทหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดการเกณฑ์ต่อเนื่อง เช่นปีนี้เรียกเกณฑ์ 81,000 คน จากยอดผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร 500,000 คน คิดเป็น 15.9%

นอกจากนี้กองทัพบก มีโครงการสมัครใจเป็นทหาร โดยมีสถิติผู้สมัครใจเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันกองทัพพยายามเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาเป็นทหารกองประจำการ อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากองทัพพิจารณาเรียกเกณฑ์ทหารในจำนวนที่เหมาะสม และรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณ

พล.อ.วรเกียรติ​ กล่าวต่อว่า ส่วนตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นทหารชั้นนายพลตั้งแต่พลตรีถึงพลเอก มีนโนบายลด 50% ปี 2570 ทุกปีที่มีการปรับย้ายจะลดตามกรอบที่กำหนด ปัจจุบันลดว่า 200 กว่านาย คิดเป็น 2.5% ขณะเดียวกันลดจำนวนนักเรียนนายร้อยตามสัดส่วนเมื่อเติบโตไปในอนาคตสอดคล้องอัตรากำลังพลและตำแหน่ง สำหรับเงินค่ารถประจำตำแหน่ง ถือเป็นตำแหน่งระดับรองนายพล รองเจ้ากรม เช่น พันเอกพิเศษ

ก่อนหน้านี้หลักเกณฑ์เดิมมีรถให้ แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนให้เบิกเป็นค่ารถแทนเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนกระทรวงอื่น โดยพันเอกพิเศษ จำนวน 25,400 บาท ส่วนพลตรี จำนวน 31,800 บาท ขณะที่พลโทและพลเอก จำนวน 41,000 บาท นอกจากนี้สภากลาโหมมีมติออกหลักเกณฑ์ห้ามหน่วยเพิ่มอัตรา ห้ามเปลี่ยนคำแหน่งประจำเป็นตำแหน่งหลัก ส่วนเรื่องรถยนต์ประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น ยืนยันไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง แต่เป็นรถที่เสริมสร้างการปฏิบัติงาน มีระบบสั่งการสามารถควบคุมการทำงานเพื่อตอบสนองภารกิจเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องจัดหารถที่มีสมรรถนะสูง ไม่ได้ใช้งบลับ หรืองบพิเศษ เป็นงบปกติทั่วไป

พล.อ.วรเกียรติ​ กล่าวว่า การใช้งบลับของกองทัพยืนยันว่างบลับมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจกระทรวงกลาโหม และการใช้จ่ายเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ใช้ในภารกิจเกี่ยวกับ 1.ความมั่นคงและป้องกันประเทศ2. ยาเสพติด 3.งานด้านการข่าว4. ภารกิจต้องปกปิดผลประโยชน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือความก้าวหน้าเทคโนโลยี ต้องรายงานนายกฯและ รมว.กลาโหม ทุก 3 เดือน ว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง นอกจากนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเมื่อปี 2564 ในการตรวจสอบการใช้งบลับ และผู้ว่าฯ สตง.เคยเดินทางมาพบตนและผบ.เหล่าทัพ และได้ให้ความร่วมมืออย่างดีมาตลอดในการให้ข้อมูล อีกทั้งยังมีคณะกรรมการควบคุมการเบิกจ่ายงบลับ

พล.อ.วรเกียรติ​ กล่าวว่า ขณะที่เรื่องยูเอวีตรวจการณ์ไกลฝั่งของกองทัพเรือนั้น ยืนยันว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หรือโครงการต่างๆที่มีมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท ก็จะมีการเสนอขึ้นมาให้ปลัดกระทรวงกลาโหมอนุมัติ และมีหน่วยงานสำนักงบประมาณ กรมพระธรรมนูญทหารพิจารณาดูรายละเอียดความถูกต้องของโครงการ มีคณะกรรมการดำเนินการ หากตรวจสอบแล้วพบว่าถูกต้องก็อนุมัติได้ มีการตรวจสอบทั้งราคากลาง แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ทีโออาร์ และคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอว่าเป็นไปตามขอบเขตงานหรือไม่ อีกทั้งยังมีคณะกรรมการคุณธรรมร่วมตรวจสอบด้วย ก่อนที่ตนจะเซ็นอนุมัติได้อ่านเอกสารแล้วว่าถูกต้องครบถ้วน

ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.วรเกียรติ​ รัตนา​นนท์​ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมต่อกมธ.วิสามัญฯ ถึงการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ว่า เราพยายามแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับทั้ง 2 ฝ่ายโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ แต่กระทรวงกลาโหมต้องปกป้องสิทธิและรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาฉันท์มิตรที่ดีต่อกัน ส่วนการดำเนินการตามขั้นตอนเป็นเรื่องของกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้กำกับนโยบาย ตอนทำทีโออาร์ก็ไม่คิดว่าเยอรมันจะไม่ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้จีน ทั้งที่ที่ผ่านมาเขาขายให้มาตลอด

พล.อ.วรเกียรติ​ กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินF-35 ของกองทัพอากาศนั้น ยืนยันว่าช่วงแรกกองทัพอากาศได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาเครื่องบินทดแทนโดยตั้งงบในปี 2561 แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นเครื่องบินของประเทศไหน หลังจากนั้นกองทัพอากาศมีการพัฒนาแผนในการจัดหาที่มีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ในการเสนอซื้อเครื่องบินจะต้องมีงบประมาณรองรับ เพื่อเป็นหลักประกัน ส่วนกระบวนการจัดซื้อที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯนั้น ต้องเป็นเรื่องของสหรัฐฯที่ต้องดำเนินการ ในส่วนของเราแค่ขอสนับสนุน และแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการเครื่องบินที่ทันสมัย ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯในการดำเนินเร่งรัดให้อย่างไร และเชื่อทางกองทัพอากาศมีแผนรองรับอยู่แล้ว หากการดำเนินการล้าช้า หรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนจบการชี้แจงงบประมาณในว่วนของกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ทาง พล.อ.เฉลิมพล ได้กล่าวขอขอบคุณกมธ.วิสามัญฯที่ให้เหล่าทัพได้มาชี้แจง จากนั้นขออนุญาตประธานในที่ประชุมเปิดเพลง “กองทัพไทยหัวใจเพื่อประชาชน” เพื่อให้กมธ.วิสามัญฯได้เข้าใจภารกิจทหาร เพราะตนพูดไม่เก่ง จึงให้ลูกน้องรวบรวมว่ากองทัพได้ทำอะไรบ้าง โดยประธานอนุญาต เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศการประชุม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img