วันจันทร์, กรกฎาคม 1, 2024
หน้าแรกNEWS“วิษณุ”ชี้หากการพิจารณาก.ม.ลูกเสร็จไม่ทัน 180 วัน ปารตี้ลิลส์ต้องใช้สูตรหาร100
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วิษณุ”ชี้หากการพิจารณาก.ม.ลูกเสร็จไม่ทัน 180 วัน ปารตี้ลิลส์ต้องใช้สูตรหาร100

วิษณุ” ชี้หากการพิจารณาก.ม.ลูกพิจารณาเสร็จไม่ทัน180 วัน ต้องใช้สูตรหาร100 ระบุใครเห็นขัดยื่นศาลรธน.ตีความแต่หากล่มรัฐสภาต้องรับผิดชอบถูกประชาชนตำหนิ เรียกร้องค่าน้ำค่าไฟคืนไม่ได้

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่รัฐสภาจะปล่อยให้ร่างกฎหมายพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่คาดว่า จะพิจารณาเสร็จไม่ทัน 180 วันในวันที่ 15 ส.ค.นี้ และจะกลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ครม.เสนอการใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 สุดท้ายใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบว่า รัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะรัฐสภาทำไม่เสร็จ หากทำไม่เสร็จต้องใช้กฎหมายที่รัฐบาลส่งรัฐสภาทุกมาตรา

เมื่อถามย้ำว่า รัฐสภาต้องรับผิดชอบอย่างไร  นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน

เมื่อถามว่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเบี้ยประชุม รัฐสภาต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี

เมื่อถามว่า ปกติหากเป็นกฎหมายงบประมาณไม่ผ่านรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบแต่พอเป็นกฎหมายเลือกตั้งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รับผิดชอบแน่ คือรับผิดชอบต่อประชาชน คือประชาชนตำหนิติเตียนเอา แต่จะมาให้รับผิดชอบตามที่สื่อถามให้จ่ายค่าน้ำค่าไฟอันนั้นไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญคาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดขึ้นได้

เมื่อถามว่า เมื่อวานมีเหตุสภาล่มมีการมองกันว่า จะทำให้กฎหมายไม่ทันวันที่ 15 ส.ค.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคิดมาแล้วในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เช่น การพิจารณางบประมาณ ส.ส.ต้องใช้เวลาพิจารณาให้เสร็จในเวลาเท่าใด   ถ้าไม่เสร็จต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอ เช่นเดียว กับพ.ร.ป.ทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องเลือกตั้ง ขึ้นชื่อว่าพ.ร.ป.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 180 วัน ถ้าทำไม่เสร็จก็ต้องไปใช้ร่างต้นฉบับที่เสนอเข้าสภาตอนวาระ1  ซึ่งผู้ร่างอาจกะไว้แล้วว่า อาจมีกรณีไม่เสร็จเกิดขึ้นได้ เพราะสภาเวลาพิจารณากฎหมายปกติไม่มีกำหนดเวลา เขาก็ชินกับการร่าง 2 หรือ 3 ปี พอถึงกฎหมายสำคัญจึงต้องล็อคเวลาไว้

“ที่เราพูดว่าร่าง กกต.  เป็นหลักแต่อยากพูดให้ถูก ก็คือ ร่างที่ส่งสภามากกว่า ตอนที่กกต.ส่งมาให้ครม.ตอนนั้น และ ครม.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข และมีการแก้อะไรไปบางอย่างรัฐบาลจึงเอาไปส่งสภา ดังนั้นจะไปหยิบเอาฉบับที่1ของกกต.ไม่ได้ ต้องหยิบฉบับที่ 2 ของรัฐบาล ที่เสนอสภา ดังนั้นจึงเรียกว่า ฉบับที่รัฐบาลเสนอสภา” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า หากร่างของรัฐบาลที่เสนอเข้าสภามีผลบังคับใช้จะกระทบกับนักการเมืองหรือไม่เพราะไม่มีส่วนในการร่าง นายวิษณุ กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบบางเรื่องเพราะถ้าเป็นร่างของสภาก็มีการโหวตด้วยเสียงส่วนใหญ่กันมาแล้ว เมื่อใช้ร่างของต้นฉบับสภาก็ไม่มีสิทธิได้ติชมปรับปรุงอะไร  และหากใครไม่เห็นด้วยสามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ร้องว่า ไม่ชอบใจไม่ได้

เมื่อถามว่าจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีหากใช้ร่างของรัฐบาลส่งสภาฯ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบแต่คาดว่าน่าจะมี และบางทีไม่ใช่ร้องว่าข้อความขัดรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้องก็ยกขึ้นเป็นเหตุร้องได้

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญจะต้องคว่ำเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าหลักมีอยู่แล้ว หากขัดในเรื่องเล็กน้อย ศาลอาจสั่งให้เอาส่วนนั้นออกไป หรือนำไปแก้ไข หากขัดในเรื่องใหญ่เป็นสาระสำคัญก็ตกไปทั้งฉบับ และต้องกลับมาเริ่มต้นร่างนั้นใหม่ ส่วนจะถือเป็นเงื่อนไขและปมเวลาทางการเมืองหรือไม่ในช่วงที่วาระรัฐบาลใกล้จะหมดลงไปสู่การเลือกตั้ง คงไม่เกี่ยวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าต่อไป เมื่อถามว่ามองสถานการณ์ว่ารัฐสภาจะไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าวใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าตนไม่ทราบ ตนไม่รู้ แต่อย่าลืมว่ายังเหลือเวลาอีก 2 วันคือ วันที่ 9-10 ส.ค.อาจจะทันก็ได้ เพราะยังเหลือไม่กี่มาตรา และคาดหวังว่ายังจะไปได้

เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวรัฐบาลอยากให้กฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่ รัฐบาลไม่เคยพูดถึงประเด็นเรื่องพวกนี้เลย”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img