“อรรถกร” เผยจุดยืน “พปชร.” คลอดกฎหมายลูกทันใช้ก่อนเลือกตั้งใหญ่แน่ ปี 66 ไม่บังคับ ส.ส.เข้าประชุมร่วม 10 ส.ค. ยันสูตรหาร 500 ตีตกไม่ใช่ทางตันใช้ร่างกกต. ได้ ชี้ไม่มีอำนาจตัดสินปม “นายกฯ” 8 ปี เชื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมแล้ว เร่งเดินหน้า ช่วย “บิ๊กป้อม” หาเสียง
วันที่ 8 ส.ค. 65 เวลา 13.45 น.ที่รัฐสภา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐเรื่องสูตรการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหาร 100 และหาร 500 ว่า ไม่ว่าจะเป็นสูตรหาร 100 หรือหาร 500 ในวันที่ 15 ส.ค. เราก็จะเห็นชัดเจนว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งในขณะนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันระหว่างสมาชิกพรรคพลังประชารัฐว่าสูตรไหนจะเป็นสูตรที่เหมาะสมในเวลานี้ ส่วนตัวคิดว่า ถ้าเป็นสูตรหาร 100 ก็จะมีความสอดคล้องกับกฎหมายที่ยื่นผ่านสภาฯในวาระ 1 มากกว่า และก็เป็นที่ยอมรับของสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว ตนจึงมองว่าไม่ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐคำนึงถึงคือกฎหมายฉบับดังกล่าว จะต้องบังคับใช้ให้ทันเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 ซึ่งคือหลักประกันแรก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศ และไม่ให้เกิดความซับซ้อนให้แก่ประชาชน คือจุดยืนพรรคพปชร.
เมื่อถามว่า ในการประชุมวิปรัฐบาลวันนี้จะกำชับให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค. หรือไม่ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะไม่เข้าเป็นองค์ประชุมว่า ตนเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ คงไม่สามารถไปร่วมพูดคุยหรือประสานกับพรรคเพื่อไทยในเรื่องการเข้าประชุมได้ แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมวิป 3 ฝ่าย นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็แสดงความเป็นห่วงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค. เนื่องจากส.ส.หลายคน ได้นัดเพื่อเข้าร่วมงานในวันกำนันผู้ใหญ่บ้านไว้แล้ว ซึ่งเป็นวันที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงขอความร่วมมือสมาชิกพรรคว่า หากเป็นไปได้ขอให้มาร่วมประชุมรัฐสภา
“ถามว่าเราจะไปบังคับเลยก็คงไม่ถึงขั้นไปบังคับว่า ทุกคนจะต้องหลบหรือเบี้ยวงานในพื้นที่ นี่คือเบื้องต้นที่เราพูดคุยกับสมาชิกพรรค” นายอรรถกร กล่าว
เมื่อถามถึงแนวโน้มว่าพรรคพลังประชารัฐจะยื้อกลับไปใช้สูตรหาร 100 หรือไม่ นายอรรถกร กล่าวว่า อย่าเรียกว่ายื้อ ตนคิดว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ในวันที่ 10 ส.ค. ก็รู้อยู่แล้ว แต่ในการที่เราจะผ่านกฎหมายนี้ มีหลายวิธี หากกฎหมายฉบับนี้พิจารณาไม่เสร็จก็ไม่ใช่ทางตันของจุดมุ่งหมายปลายทางในการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถใช้กฎหมายที่ผ่านในวาระที่ 1 ซึ่งยื่นโดยคณะรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอได้เหมือนกัน ก็คือทางออกหนึ่ง
เมื่อถามว่า การกระทำแบบนี้คือการทำให้ส.ส.ขาดความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะส.ส.ต้องทำงานในสภาเป็นหลัก การที่ออกไปงานนอกในช่วงที่มีการประชุมสำคัญ นายอรรถกร กล่าวว่า บริบทการเมืองของเมืองไทย หากเราไม่ให้ความสำคัญของพื้นที่เลย โอกาสที่จะกลับมาทำงานที่สภาก็ยากเหมือนกัน คงต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน บางครั้งทางเลือกที่พรรคพลังประชารัฐเลือกในอนาคตอันใกล้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่ตนเชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐคงคิดมาแล้ว ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
นายอรรถกร ยังกล่าวถึงเรื่องการดำรงวาระตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีว่า 3 ปีที่ผ่านมา วิปรัฐบาลไม่เคยมีการคุยเรื่องดังกล่าว และคิดว่าคงไม่มีการคุยกัน เพราะวิปรัฐบาลไม่มีอำนาจไปตัดสินหรือให้ความเห็น แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะมีการเตรียมความพร้อมที่จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
“พรรคพลังประชารัฐ ก็จะเดินหน้าทำงานต่อไป โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ได้ไปเยี่ยมที่จังหวัดหนองคาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยืนยันจะตั้งใจทำงานเหมือนเดิม ไม่ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”นายอรรถกร กล่าว