วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightส.ว.วอนให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ หวั่นทำ''ประชุมล่ม''ส่อขัดจริยธรรม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ส.ว.วอนให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ หวั่นทำ”ประชุมล่ม”ส่อขัดจริยธรรม

ส.ว.คำนูณ ระบุ วิธีไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำโจ่งแจ้ง ขอให้ทบทวนหน้าที่ส.ส. หวั่นทำองค์ประชุมล่มส่อขัดจริยธรรม ขณะที่”ดิเรกฤทธิ์” วอนส.ส.-ส.ว. ทำหน้าที่ร่วมประชุมรัฐสภา อย่าใช้อำเภอใจ ไม่ร่วมประชุมเพราะไม่พอใจร่างกฎหมาย

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.65 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ส.ค. ว่า ขณะนี้ยังต้องรอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานมนกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ยังเหลือการพิจารณาอีก 4-5 มาตรา หากผ่านบังคับใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  ส่วนร่างพ.ร.ป. จะเดินหน้าไปได้อย่างไรหรือไม่ ต้องยอมรับความจริงว่าขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ

ก่อนหน้านี้การไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมก็เป็นมาตรการหนึ่งที่สมาชิกทุกฝ่ายเคยใช้กันมา แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ยอมรับกันอย่างเปิดเผยว่าการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมเป็นความจงใจและเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งนี้ตนเคารพการแสดงความเห็น แต่ตนเห็นต่างที่จะใช้วิธีดังกล่าวเพราะหากเห็นว่ากฎหมายไม่ถูกต้องยังมีกระบวนการหลังจากวาระ 3 อีก2แนวทาง คือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังจะต้องให้ความเห็นกลับมายังรัฐสภาซึ่งจะต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง และกรณีที่กกต.เห็นต่างก็อาจจะโหวตไปตามการแก้ไขของกกต.ได้ และ2.ช่วงก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะเห็นว่ามีขั้นตอนตามปกติที่บัญญัติไว้ถึง 2 ช่องทาง


     

“จริงอยู่ที่ว่าหากไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ  แม้จะเป็นหนทางที่สั้นที่สุดและได้ผลและได้ผลดีที่สุด โดยไม่ต้องกริ่งเกรงอะไรทั้งสิ้น แต่เราควรจะต้องชั่งน้ำหนักเทียบกับความรู้สึกพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งตนคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหน้าที่พื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา คือการเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย และทำตามระเบียบวาระ” นายคำนูณ กล่าว

เมื่อถามว่าหากในการประชุมร่วมรัฐสภาวันพรุ่งนี้ องค์ประชุมล่มจะทำให้ประชาชนผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของพี่น้องประชาชนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีประเด็นมาโดยตลอด ครั้งนี้หากไม่ครบองค์ประชุม ไม่ว่าขั้นตอนใด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งย่อมจะไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสมาชิกรัฐสภาแน่นอน จึงเป็นงานหนักที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องชี้แจงและเร่งกู้ภาพลักษณ์ เพื่อความวัฒนาถาวรของระบบรัฐสภาต่อไป
   

เมื่อถามว่า หากการประชุมล่มโดยมีเจตนา และไม่มีเหตุผลในการเข้าประชุมตามปกติจะต้องมีบทลงโทษอะไรหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าอาจจะมีการยื่นคำร้องทั้งประเด็นการผิดจริยธรรมซึ่งก็ไม่เคยมีคดีตัวอย่างมาก่อนว่าการไม่เข้าร่วมประชุมจะถึงขั้นผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ อย่าลืมว่าในขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่องค์กรอิสระได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้บังคับกับสมาชิกรัฐสภาด้วย เป็นมาตรการการพิจารณาที่ค่อนข้างสั้น ซึ่งก็มีสมาชิกสภาฯโดนไปแล้ว 1 ราย แต่เป็นคนละเหตุผลและเหตุการณ์ หากมีสมาชิกรัฐสภาไม่เข้าร่วมประชุมจริงในวันพรุ่งนี้ แต่ละคนคงมีเหตุผลในแต่ละกรณีที่แตกต่างกันไป หากยื่นใบลาจะไม่ถือว่าเป็นการขาดประชุม

นอกจากนี้เชื่อว่าในวันพรุ่งนี้ยังมีเหตุแทรกซ้อนเข้ามาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็พยายามขอให้ไม่มีประชุมในวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีภารกิจในพื้นที่ต้องเข้าร่วมงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน การมีเหตุผลในใบลาของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป ดังนั้นจะมาพิจารณาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ตนคิดว่าคงจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

นายคำนูณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเรื่ององค์ประชุมในรัฐธรรมนูญ 2557 ฉบับชั่วคราวได้เคยมีมาตรการไว้ชัดเจนคือกำหนดการแสดงตนในแต่ละช่วงเวลาว่าจะต้องแสดงตนไม่น้อยกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนการแสดงตนทั้งหมด หากขาดไปก็จะมีปัญหาต่อสมาชิกภาพ ซึ่งไม่ได้นำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นข้อคิดว่าสมาชิกรัฐสภาควรจะศึกษาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2557 และข้อบังคับการประชุมนั้นๆหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการรักษาองค์ประชุมให้ครบ

ขณะที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าว การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งมีกระแสว่าส.ส.จะมีไม่เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก และทำให้มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมว่า ในส่วนของส.ว. ได้กำชับให้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาเป็นปกติ และให้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ฐานะสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ตนในฐานะกรรมาธิการฯ ร่างกฎหมาย ที่รัฐสภาพิจารณาค้างอยู่ทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ… และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ (ฉบับที่… ) พ.ศ…. รัฐสภา อยากให้ร่างกฎหมายสำคัญทั้ง 2 ฉบับผ่านรัฐสภาโดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประชาชนได้รับประโยชน์ เพราะจะทำให้การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมโปร่งใส มีกรอบระยะเวลาตรวจสอบได้

“หากเล่นการเมือง ไม่มาประชุม องค์ประชุมไม่ครบ ผมขอตำหนิ ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่เข้าร่วมประชุมเยอะๆ หรือครบองค์ประชุม ส่วนที่มีคนบอกว่าการใช้สิทธิยั้งร่างกฎหมายด้วยการไม่ร่วมประชุม ผมเคารพในความคิด” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าาต่อว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ หากไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วเสร็จได้ทันวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งจะเกินกรอบ 180 วัน ต้องกลับไปใช้ร่างก”หมายฉบับที่รัฐสภารับหลักการ เมื่อถามว่าหากวันที่ 10 ส.ค. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ ทำไม่เสร็จ โอกาสจะเรียกประชุมวันที่ 15 ส.ค. เพื่อทำให้เสร็จได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหาหากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเรียกประชุม แต่ปัญหาคือเมื่อเรียกประชุมแล้วมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมหรือไม่


- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img