“ไทยสร้างไทย” ชี้รัฐขึ้นค่าไฟสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำประชาชนอ่วมแบกรับภาระทั้ง แผ่นดิน ปล่อยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับประโยชน์กันถ้วนหน้า แนะรัฐเปิดเจรจาลด “ค่าความพร้อมจ่าย” ลงมาโดยด่วน
พรรคไทยสร้างไทย โดยนายนพดล มังกรชัย ประธานคณะกรรมการวิชาการ พรรคไทยสร้างไทย นายรณกาจ ชินสำราญ นายภัชริ นิจสิริภัช คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พี่น้องประชาชนต้องใช้ไฟฟ้าแพง เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองเพียง 33.16% ที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชนและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ถึงเกือบ 70% ซึ่งการที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นเป็นหลักทำให้มีการสำรองไฟฟ้าสูงขึ้นไปมากจนผิดปกติ
นายนพดล เปิดเผยว่า ปกติค่าการสำรองจะไม่เกิน 15% หรือ ประมาณ 4,500 เมกะวัตต์ แต่ที่ผ่านมากลับมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความต้องการ ย้อนไปเมื่อปี 2559 มีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ แค่ 7,000 เมกะวัตต์ มาปัจจุบันตัวเลขการสำรองสูงขึ้นไปอีกถึง 12,000 เมกะวัตต์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไปมาก และกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ ประชาชนต้องแบกรับภาระในปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการประกันค่าตอบแทนการลงทุนในรูป ของการชำระ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของสัญญาการผลิตไฟฟ้าป้อนรัฐ ซึ่งทำไว้กับภาคเอกชนหลายราย บางรายก็เป็นบริษัทในกลุ่มในเครือของ กฟผ. เอง โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าแม้ไม่ใช้ไฟก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ตาม) ทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาท ต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อปี
ด้านนายรณกาจ ระบุว่า อีกปัญหาคือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG จาก ต่างประเทศ ในลักษณะของสัญญาจร (LNG spot) ซึ่งทำให้ราคา “แพง มาก” แพงกว่าการซื้อในสัญญาระยะยาว จากข้อมูลราคา LNG ในช่วงปลายปี 2564 ต้นทุนราคาก๊าซในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 235-315 บาท/ล้าน BTU แต่ราคา spot เคยพุ่งไปถึง 1,100-1,200 บาท/ล้าน BTU ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 30%
ขณะที่นายภัชริ ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย ขอเสนอให้รัฐต้องเร่งเปิดเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีการทบทวนนโยบายการ สำรองพลังงาน พร้อมทบทวนข้อสัญญาในเรื่องการประกันความเสี่ยง และเปิดเจรจาเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา เพราะตรงจุดเหล่านี้ คือค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น
รัฐควรส่งเสริมให้เกิดโซลาร์เซลล์ ตามบ้านเรือน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของพลังงานในระยะยาว และหากมีไฟฟ้าเหลือแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้กับภาครัฐได้ เพื่อให้กลับคืนเป็นรายได้เข้าสู่ภาคครัวเรือน และที่สำคัญรัฐจะต้องเข้ามาช่วยเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อต้นทุน เพื่อช่วยเป็นทุนตั้งต้นสำหรับ ค่าใช้จ่ายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยให้ธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้ด้วย