“เลขาฯสมช.” เผยถก 19 ส.ค. ปรับโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง แต่ยังไม่เลิกกฎหมายพิเศษ พร้อมจับตากระจายยา ไปสู่ร้านยาชั้น 1
วันที่ 18 ส.ค.65 ที่ทำเนียบฯ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ในวันที่ 19 ส.ค. นี้ว่า การประชุมในวันที่ 19 ส.ค. จะมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ รมว.สาธารณสุขได้หารือไว้ และ กำหนดกรอบแนวทางไว้ คือการปรับโควิดไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีแผนงานที่ชัดเจนและตรงนี้ถือเป็นอำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อกำหนดไว้เลย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโควิดเรามี ศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศอยู่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะนำเรื่องนี้มาแจ้งให้ที่ประชุมศบค.ทราบเผื่อจะมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเพิ่มเติมก่อนดำเนินการต่อไป
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการดูถึงสถานการณ์ภาพรวมการติดเชื้อโควิดของทั้งโลก ภูมิภาค และประเทศไทย และวันที่ 19 ส.ค. นายกฯจะรับทราบถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขต่างๆ ที่โตขึ้น ข้อกำจัดต่างๆที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องไปปรับปรุงเพิ่มเติม และแก้ไข และ จะมีการรายงานเกี่ยวกับการเปิดด่านชายแดนที่เปิดมาเดือนกว่าๆ แล้วว่าเป็นอย่างไร และติดขัดตรงไหน มีอะไรต้องปรับปรุง หรือจะเสริมตรงไหนให้การเดินทางเข้าประเทศเป็นไปโดยสะดวก และให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้านี้ รวมทั้งจะมีเรื่องสำคัญก็คือเรื่องของแผนการกระจายยา จะมีการยกระดับให้ดีขึ้น โดยขณะนี้ไปถึงโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเวชกรรม ต่อไปอาจมีการพิจารณาถึงร้านยาชั้น1 ที่จะสามารถกระจายยาโควิดให้กับประชาชนได้ภายใต้การกำกับของแพทย์ ก็จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งที่จะรายงานคือแผนที่จะไปสู่โรคติดต่อไม่ร้ายแรง วันที่ 19 ส.ค. ก็เสนอให้ที่ประชุมศบค.ทราบให้เพื่อคิดเห็นเพิ่มเติม แต่ย้ำว่าเรื่องนี้ ขอให้อำนาจของ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่สามารถพิจารณาได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ในวันที่ 19 ส.ค.อาจจะกำหนดเวลาเรื่องของการให้เป็นโรคประจำถิ่น และยังมีเวลาที่จะประเมินสถานการณ์ ถ้าใกล้เวลาแล้วเกิดมีสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้พิจารณาจะปรับอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น แต่ในแผนนี้มีความสำคัญจะต้องเตรียมและพูดกันก่อน โดยเฉพาะกรุงเทพฯเป็นจังหวัดใหญ่ต้องมองไปถึงการบูรณาการร่วมกับจังหวัดข้างเคียง ส่วนวันที่ 1 ต.ค. นี้ ศบค. จะถูกยุบหรือไม่ เพราะจะปรับโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับความเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็แล้วแต่ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษควบคุมและป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้าย
เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิดที่เบาลงในบางระดับเราจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินอยู่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังใช้อยู่ เราจำเป็นต้องควบคุมคนเข้าออกประเทศ เรายังจำเป็นในการกำกับหรือห้ามกระทำการสิ่งใด สิ่งหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเราจะดูแผนของกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่19 ส.ค.ว่าแผนที่ออกมานี้ยังจำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่หรือไม่ แต่ตนเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาแม้ตัวเลขผู้ป่วยจะคงที่และมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ตัวเลขติดเชื้อตามความเป็นจริงที่ไม่ได้รายงานจะสูงขึ้น แต่มาตรการในการรองรับของเราทั้งในสถานพยาบาลหรือเจอแจกจบ หรือกระจายยา สิ่งต่างๆเหล่านี้ไปทางที่ดี
เมื่อถามถึงข้อเสนอถึงการเปิดผับถึงตี 4 มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า การผ่อนคลายของศบค. ที่ผ่านมา ถือว่าสุดทางของหน้าที่ของศบค.แล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ซึ่งถ้าจะปรับเวลาอาจจะเป็นกรณีปกติคือการแก้กฎหมายหรือกฎกระทรวง หรือจะเป็นกรณีพิเศษอะไรก็ตามต้องให้ผู้มีอำนาจหรือมีหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการไม่เกี่ยวกับศบค. แล้ว แต่ศบค.อาจมีข้อกังวล ถ้าขยายเวลาปิดไปตี 4 จะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิดแค่นั้น
เมื่อถามว่าเรื่องเปิดผับถึงตี4 จะบรรจุวาระการประชุมของศบค.ได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ก็เสนอได้ แต่ศบค.ก็จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับความหวังดีของรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ต้องการให้เศรษฐกิจในพื้นที่ได้ฟื้นตัว แต่คิดว่าวันที่ 19 ส.ค. กระทรวงท่องเที่ยวฯคงไม่เสนอการเปิดผับถึงตี 4 เพราะการประชุม ศปก.ศบค. ในวันนี้ ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯไม่ได้เสนอเข้าวาระ