“รศ.หริรักษ์”ชี้ 3 แนวทางตีความปม 8 ปีนายกฯ ระบุช่วงหลังประชุมเอเปค เป็นช่วงเหมาะสมหาก “บิ๊กตู่”จะวางมือทางการเมือง ยอมรับการเป็นนายกรัฐมนตรีนานถึงกว่า 8 ปี นับว่ายาวนานมากแล้วจริงๆ
วันที่ 20 ส.ค.65 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Harirak Sutabutr” ระบุว่า…
อีกไม่กี่วันก็จะรู้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีกหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 บัญญัติไว้ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”
มาตรา 159 บัญญัติไว้ว่า
“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ
สภาผู้แทนราษฎร การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”
รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วไม่เกินแปดปีนั้น ให้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หรือให้นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือให้นับย้อนหลังไปตั้งแต่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรืออย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการตีความกันไปเป็น 3 แนวทางดังนี้
1. ใหันับย้อนหลังไปตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการทำรัฐประหาร ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นพลเอก ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
2. เนื่องจากกฎหมายจะมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่พลเอก ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นพลเอก ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบแปดปีในวันที่ 8 มิถุนายน 2570
3. เนื่องจากฏหมายจะมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เพราะขณะนั้นพลเอก ประยุทธ์กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แม้จะยังไม่ได้เป็นนายกรัฐนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ตาม ตามแนวทางนี้พลเอก ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบแปดปีในวันที่ 5 เมษายน 2568
แนวทางที่ 1 และแนวทางที่ 2 เป็นการตีความแบบสุดโต่ง แน่นอนว่า กลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มนักวิชาการ และสื่อต่างๆที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ต่างออกมาให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องเป็นไปตามแนวทางที่ 1 โดยมีเหตุผลที่มาอ้างอยู่ 2 ประการ ประการแรก รัฐธรรมนูญระบุเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป อันเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตการทางการเมืองได้ ประการที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติว่า
“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป”
คนกลุ่มดังกล่าว อ้างว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนี้ เท่ากับว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแบับนี้แล้ว จึงต้องนับย้อนหลังต่อเนื่องไปจนถึงวันที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก อีกทั้งเมื่อเป็นรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ปปช ไม่กำหนดให้ต้องยื่นบัญทรัพย์สิน เพราะได้ยื่นแล้วตั้งแต่แรก จึงถือว่าพลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มคนที่คิดว่าควรเป็นแนวทางที่ 1 เห็นแย้งว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติไว้เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศในช่วงที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แต่ยังมิได้มีการเลือกตั้ง จึงให้การรับรองให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มิได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีชุด คสช ได้รับแต่งตั้งย้อนหลังโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด อีกทั้งที่อ้างว่ามีบันทึกการประชุมปรากฏว่าเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้นับย้อนหลัง แต่ภายหลังก็เป็นที่ปรากฎว่า บันทึกการประชุมนั้นเป็นความเห็นของกรรมการบางท่าน มิได้เป็นมติที่ประชุมแต่อย่างใด และยังมีคำถามอีกด้วย ว่าหากจะนับย้อนหลัง จะย้อนไปจนถึงเมื่อใด ย้อนไปจนถึงช่วงเวลาที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ในช่วงนี้ เมื่อใกล้กำหนดเวลาเข้ามาทุกที ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน สื่อทีวี และสำนักข่าวที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย และกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่ไม่เอารัฐบาลชุดนี้ ต่างก็ประสานเสียงกันเซ็งแซ่ เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ มีจิตสำนึก ให้ลาออกโดยไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งกับสื่อกลุ่ม digital tv และ กลุ่มสำนักข่าว social media บางสำนัก ที่เห็นชื่อแล้วก็รู้ว่ามีจุดยืนอยู่ฝ่ายใด ร่วมมือกันจัดให้ประชาชนร่วมโหวตว่าพลเอก ประยุทธ์ควรลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งก็พอจะรู้ว่าประชาชนที่จะโหวตเข้ามาก็คือผู้ที่ติดตามสื่อ หรือสำนักข่าวเหล่านี้ เป็นคนกลุ่มใด
น่าเชื่อว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้ทำเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการต่างคนต่างทำ แต่น่าจะเป็นการร่วมมือกัน ประสานงานสอดรับกัน และน่าเชื่อว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ได้คาดหวังว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมลาออกจากตำแหน่งง่ายๆ แต่น่าจะร่วมมือกันเพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นแรงกดดัน เพื่อโน้มน้าวศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยอย่างที่ตัวเองอยากให้เป็นมากกว่า
เชื่อได้ว่าตุลการศาล แต่ละท่านมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครไปโน้มน้าว และยิ่งไม่มีใครไปสั่งท่านได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกหากจะเห็นการลงมติที่ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ และอาจเป็นการลงมติที่คะแนนเสียงก้ำกึ่งเสียด้วยซ้ำ
ยังเชื่อว่าแนวทางที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดน่าจะเป็นแนวทางที่ 3 คือให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ 6 เมษายน 2560 ไม่ย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น หากเป็นเช่นนั้น พลเอก ประยุทธ์ก็จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงเวลาที่มีการประชุม APEC แต่หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพลเอก ประยุทธ์แล้ว ว่าจะยังคงเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ เพราะหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยจากการเลือกตั้ง ก็จะมีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ช่วงหลังการประชุม APEC จึงช่วงเวลาที่เหมาะสม หากคิดจะวางมือทางการเมือง
จะว่าไป ก็ต้องยอมรับว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีนานถึงกว่า 8 ปี นับว่ายาวนานมากแล้วจริงๆ