“ดิเรกฤทธิ์” เบรกทุกฝ่ายรอศาลรธน.ชี้ขาดปมนายกฯ8ปี ถามจะมาทะเลาะใช้ความรุนแรงทำไม ยันต้องเริ่มนับ 9 มิ.ย. 62
วันที่ 22 ส.ค.เวลา 11.00 น. ค. ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการพูดคุยระหว่างสมาชิกวุฒิสภา Morning Talk เรื่อง “8 ปี ลุงตู่ครบหรือไม่ ไปหรืออยู่” ในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า มีการคุยถึง 3 แนวทางคือ 1.จะนับตั้งแต่ปี 2557 2.นับตั้งแต่ปี 2560 และ3.นับตั้งแต่ปี 2562 โดยนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ที่มาร่วมพูดคุยเห็นว่าควรนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งปี 2557 เพราะพิจารณามาตรา 264 ที่ให้นับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำหน้าที่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย ถือเป็นการนับนายกรัฐมนตรีแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ส่วนอีกแนวทางที่ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ถือเป็นความจำเป็นของประเทศในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญจะต้องรองรับองค์กรที่มีอยู่เดิม เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ การจะนับอายุนายกฯต้องนับในวันที่แต่งตั้ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง คำถามคือถ้านับตั้งแต่วันแต่งตั้งจะนับตั้งแต่ปี 2557 หรือปี 2562 ซึ่งมีความเห็นว่าน่าจะนับตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงนำพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกฯทั้ง2 ฉบับ โดยฉบับแรกนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อาศัยความตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนพระบรมราชโองการอีกฉบับบอกไว้ชัดว่า ตามมาตรา 158 ที่ให้มีกระบวนการเงื่อนไขโดยที่รัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และให้อยู่ได้ 8 ปี จึงต้องนับอายุการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ส่วนที่ได้เป็นมาตั้งแต่ระยะเวลาอื่นก่อนหน้าวันที่ 9 มิ.ย. 2562 จึงนับไม่ได้
“ประเทศเราจะให้นาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. เป็นผู้ว่าฯ เป็นผบ.ตร. หรือเป็นนายกฯก็ต้องอยู่ที่คำสั่ง คำสั่งนั้นจะตั้งโดยใคร กฎหมายบอกไว้ จะตั้งโดยเงื่อนไขอะไร และจะออกเมื่อไหร่ อยู่ได้อีกแค่ไหน ทำหน้าที่อย่างไร อยู่ในคำสั่งทั้งนั้น ฉะนั้นความชัดเจนจึงอยู่ที่คำสั่งทั้งสองฉบับ ถ้าไปอ่านก็จะได้คำตอบว่าควรจะนับอย่างไร ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ส่วนองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ เราจึงควรเคารพกติกาและกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เราจะมาทะเลาะกันทำไม ใช้ความรุนแรงและลงถนนทำไม จึงต้องเคารพศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า การชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้จะเป็นการกดดันและมีผลต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็กดดันทุกครั้ง เพราะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ และการเมือง คือมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งเราเคารพต่อทุกความคิดเห็น แต่ตนเห็นว่าควรอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เมื่อเรามีความเห็นคนอื่นก็มีความเห็น ทั้งนี้ตนคิดว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถกดดันศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะท่านต้องกล้าหาญและเป็นองค์กรหลักให้บ้านเมืองจึงต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสกดดันใดๆ ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ควรมีข้อกังวลอะไร หรือมีแรงกดดันอะไรมามีผลต่อการทำหน้าที่ของส.ส.และส.ว. แต่เราก็มีดุลยพินิจและอิสระในการทำหน้าที่เช่นกัน ส่วนกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราก็จะนำคำร้องและความต้องการของประชาชนมา เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องลงถนนไปตากแดด
เมื่อถามถึงกรณีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสามัญสำนึกของพล.อ.ประยุทธ์นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน บางคนก็บอกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการผูกขาดอำนาจ ซึ่งก็มองได้ว่าเมื่อพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจก็ควรตระหนักอย่างไรก็ตามตนคิดว่าเราต้องรักษากติกาบ้านเมือง จึงต้องพิจารณาในแง่ของกฎหมาย ส่วนฝ่ายที่บอกว่าเป็นการสนับสนุนการผูกขาดอำนาจ แต่บางฝ่ายก็อาจจะบอกว่าเราทำให้ท่านมาอยู่ในกติกา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าอยู่ไม่ได้ ครบวันที่ 24 ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ก็ขาดคุณสมบัติและต้องออกไปอยู่แล้ว แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าอยู่ได้เพราะนับตั้งแต่ปี 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ได้มาเป็นนายกฯโดยอัตโนมัติ เพราะจะครบวาระในปี 2566 แล้ว และประชาชนทั่วประเทศจะเป็นคนตัดสินว่าจะได้อยู่ต่อจนครบปี 2570 หรือไม่ ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหาและเราควรเดินตามครรลอง ถ้าไม่เคารพกฎหมายและกติกาในอนาคตบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้