“หริรักษ์”จวกฝ่ายค้านมุ่งกดดันศาล เข้ยม็อบไม่ว่าจะกลุ่มใด จัดที่ไหน ล้วนมีคนมาร่วมโหรงเหรงหรอมแหรมทั้งสิ้น ทั้งยังจัดพิธีกรรมสาปแช่งที่ไร้สาระ
เมื่่อวันที่ 26 ส.ค.รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr มีเนื้อหาดังนี้…
“ไม่ได้ผิดจากความคาดหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้พิจารณาด้วยมติ 9-0 และให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีผลการวินิจฉัยออกมาด้วยมติ 5-4 ในขณะที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยังถล่มไม่หยุด ยังคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นายกประยุทธ์ต้องไปอย่างเดียว กระทั่งเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมก็โจมตีว่าเป็นไม่ได้เพราะไม่สง่างาม
ความจริงคนที่มีสมองในระดับที่สอบเข้าและเรียนจบแพทย์มาได้ ต้องมองออกอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญเขียนไม่ได้เขียนไว้ชัดอย่างที่กล่าวอ้าง รัฐธรรมนูญบอกว่า
“นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”
นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปี ไม่ได้ แม้จะดำรงตำแหน่งมาแล้วเว้นจากการดำรงตำแหน่งไประยะหนึ่ง เช่น ดำรงตำแหน่งครบ 1 วาระ จากนั้นเว้น 1 วาระ เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีก ก็ไม่ให้เริ่มนับ 1 ใหม่ แต่ให้นับต่อเนื่อง โดยรวมกันแล้วจะเกินกว่า 8 ปีไม่ได้
รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่า ให้มีผลบังคับย้อนหลังไปหรือไม่ แต่โดยหลักแล้วกฎหมายจะมีผลบังคับย้อนหลังที่เป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้ แต่บรรดาส.ส.ฝ่ายค้าน นักวิชารที่ไม่เอารัฐบาล ดูเหมือนยืนกระต่ายขาเดียวกันหมดว่า ต้องให้มีผลย้อนหลังไปก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ดังนั้นนายกฯต้องไปสถานเดียว แต่ความเป็นจริงจะต้องมีการตีความว่า จะสามารถให้มีผลย้อนหลังได้หรือไม่
มีบางคนไปนำเอากรณีคุณ สิระ เจนจาคะ มาเทียบเคียง คุณสิระถูกร้องว่าเคยต้องโทษคดีฉ้อโกง อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับตำแหน่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณสิระพ้นจากตำแหน่งส.ส. ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่ถูกร้อง แต่ให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ได้ตำแหน่งส.ส. ซึ่งเท่ากับว่า คุณสิระไม่เคยเป็นส.ส.มาเลยนั่นเอง แต่กรณีคุณสิระ ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายบังคับย้อนหลัง เพราะในวันที่คุณสิระสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งส.ส. คุณสิระขาดคุณสมบัติที่จะเป็นส.ส.แล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังบังคับใช้ขณะนั้น ซึ่งก็เป็นฉบับเดียวกับฉบับปัจจุบัน ดังนั้นกรณีของคุณสิระจึงเป็นคนละกรณีกับพลเอก ประยุทธ์ซึ่งนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้โดยสิ้นเชิง
เป็นไปไม่ได้ว่า จะไม่มีใครมองออกว่า การตีความมีความเป็นไปได้ 3 ทางอย่างที่มีการวิเคราะห์กัน แต่ที่ฝ่ายค้านทั้งหลายดึงดันว่าต้องออกสถานเดียว ก็เพื่อจะสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ไม่ต้องการหรือไม่มีเวลาอ่านกฎหมาย หรือสาวกที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่บอกโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและข้อกฎหมาย ทำให้ความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อสร้างบรรยากาศเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ม็อบทั้งหลายที่พยายามก่อขึ้นในช่วงนี้กลับจุดไม่ติด ไม่ว่าจะกลุ่มใด จัดที่ไหน ล้วนมีคนมาร่วมโหรงเหรงหรอมแหรมทั้งสิ้น ทั้งยังจัดพิธีกรรมสาปแช่งที่ไร้สาระ พวกทะลุแก๊สก็ยังไม่วายป่วนเมือง ณ จุดเดิมคือสามเหลี่ยมดินแดง แต่ก็มีคนเพียงหยิบมือเดียว ไม่มีพลังใดๆทั้งสิ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คงไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนที่ไม่ชอบพลเอก ประยุทธ์เกิดเปลี่ยนใจ หรือเห็นใจท่านขึ้นมาอย่างกะทันหัน แต่คงเป็นเพราะประชาชนที่มีความคิดเขาเบื่อหน่ายความไร้สาระของม็อบ และเขาไม่รู้ว่าจะไปร่วมชุมนุมเพื่ออะไร สู้รอดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดีกว่า
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว และที่มติออกมา 5-4 แสดงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกต่างกัน ดังนั้นถึงเวลาลงมติ คะแนนเสียงก็คงจะไม่เป็นเอกฉันท์ค่อนข้างแน่
ขณะนี้ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ผลการวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางใดใน 3 แนวทาง แต่คาดได้เพียงว่าผลการวินิจฉัยจะไม่ออกมาอย่างที่ “ฝ่ายแค้น” ออกมาประโคมโหมกันทุกวัน เพราะนั่นไม่ใช่เป็นการประโคมโดยปราศจากอคติ แต่เป็นการตั้งใจไม่ใช้เหตุผลและข้อกฎหมาย แต่เอาผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการเป็นตัวตั้ง แล้วทำให้ผู้อื่นเชื่อตาม ดังนั้นจึงจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอน”