“ฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นนส. “ชวน” ดึงผู้เชี่ยวชาญก.ม.ให้ความเห็นศาลรธน.เพิ่มปม 8 ปี ดักคอ “บิ๊กป้อม” อย่าใช้อำนาจเกินขอบเขตรักษาการนายกฯสั่ง “ยุบสภา-โยกขรก.”
วันที่ 29 ส.ค.65 ที่รัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมผู้นำฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ปมวาระนายก 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และจะเชิญนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรธ. เพื่อไปให้การเป็นพยานต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษร ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าการที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรจะเชิญบุคคลมากกว่า 2 คน ซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ หรือประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่เป็นกลาง รวมถึงสื่อมวลชนที่เป็นกลาง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้สอบถามพินิจวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
“ผู้นำฝ่ายค้านจะทำ หนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อเรียกบุคคลอื่นนอกจากนายมีชัย และนายปกรณ์ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายจะทำการร่างหนังสือและส่งให้นายชวน อย่างด่วนที่สุด ส่วนใครจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมนั้น อยู่ในระหว่างการหารือ และประสานบุคคลนั้น พร้อมจะแนบชื่อบุคคลไปในหนังสือคำร้องด้วย” นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ส่วนการทำหน้าที่รักษาการ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าการใช้อำนาจของรักษาการนายกฯ ต้องใช้อย่างจำกัด และระมัดระวัง ไม่ใช้อำนาจตามที่เนติบริกรบางคน ได้อธิบายไปไกล จนถึงขั้นยุบสภา หรือโยกย้ายบุคคลากรต่างๆ ซึ่งประเด็นการใช้อำนาจที่มีอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ ไปหนึ่งทางใด จึงอยากให้พล.อ.ประวิตร ใช้อำนาจของตนเองอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และ คณะกรรการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพราะไม่อยากให้มองว่ารักษาการนายกฯ ใช้อำนาจที่มีจำกัด จนเกินอำนาจที่มีอยู่
เมื่อถามว่า เหตุใดถึงคิดว่า นายมีชัย และนายปกรณ์ จะให้ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อศาล นายอดิศร กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกัน เราอยากให้ฝ่ายที่เป็นกลางมีส่วนเพิ่มเติมความคิดเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ซึ่งนายมีชัย และนายปกรณ์ มีเป็นผู้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นเป็นผู้เฝ้าติดตามตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน ก็อยากให้มีหลากหลายความคิดเห็น เพื่อไม่ให้เอนเอียงไปทางไหน และเกิดความวางใจต่อสาธารณะมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระบวนการยื้อการพิจารณาเกิน 1 เดือน นายอดิศร กล่าวว่า ตนคิดว่า ใช้เวลา 1 เดือนน่าพอ ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆ จะเริ่มเมื่อไรอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงได้สิ้นสุดลงไปแล้วว่าใคร ทำอะไร ที่นี้อย่างไร เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงข้อกฎหมายที่มีการมองกันต่างมุมมอง