วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกPRแพทย์ห่วงอนาคตคู่รัก ‘ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ’ จุดประกายวางแผนอนามัยการเจริญพันธุ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แพทย์ห่วงอนาคตคู่รัก ‘ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ’ จุดประกายวางแผนอนามัยการเจริญพันธุ์

ภาวะ “อนามัยการเจริญพันธุ์” เป็นหนึ่งในดัชนีที่สะท้อนคุณภาพสังคม ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่องนี้มาตลอด แต่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิดไม่ถูกวิธี และการทำแท้งผิดกฎหมาย

ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โจทย์ใหญ่คือการเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง การมี Sex อย่างปลอดภัย และ “ค่านิยม” ใหม่ๆ เรื่องอิสรภาพในร่างกายตัวเอง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักช่วงเทศกาลอย่าง ลอยกระทง ปีใหม่ ฯลฯ

สถานการณ์เหล่านี้สร้างความท้าทายให้กับ “ศ.นพ. อรรณพ ใจสำราญ” นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) สูตินรีแพทย์ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกแก้ปัญหาร่วมกับสมาคมอนามัยและภาคีเครือข่ายในทุกๆ มิติ

“สถานการณ์ปัจจุบัน วัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ (Unintended Pregnancy) สูงมาก ส่งผลให้ปัญหาเกิดท้องไม่พร้อมตามมา กลายเป็นปัญหาทางสังคม ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีจึงสำคัญมากสำหรับประเทศไทย แม้อัตราเด็กเกิดใหม่และการเจริญพันธุ์โดยรวมจะลดลงแล้วก็ตาม”

ส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างตั้งใจและมีคุณภาพ

ศ.นพ. อรรณพ มองว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องสร้างความตื่นตัวในสังคมในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างจริงจัง ส่งเสริม “การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ” (Quality Pregnancy) ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ร่วมกับสมาคมต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2560-2569 ประสบความสำเร็จน่าพอใจ แต่ก็ยังมีวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังมีปัญหา 

“การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจหรือไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อโอกาสเจริญก้าวหน้าในชีวิต สร้างภาระการเลี้ยงดูระยะยาว บางคนลงเอยด้วยการทำแท้งอย่างไม่ถูกวิธีหรือไม่ปลอดภัย (Unsafe Abortion) กับหมอเถื่อน หรือหาซื้อยาทำแท้งตามเว็บไซต์มาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ”

สถิติ “สถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ ในวัยรุ่นและเยาวชน ปี 2566” ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการคลอดของหญิง อายุ 10-19 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 42,338 คน คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของผู้หญิงที่คลอดบุตรทั้งหมดในประเทศไทย และกลุ่มนี้มีอัตราการคลอดซ้ำ 2,949 คน

เมื่อจำแนกการคลอดบุตรของหญิงอายุน้อยมาก 10-14 ปี มีจำนวน 1,736 คน และวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีจำนวน 40,602 คน ปัญหาหลักที่พบคือ เด็กแรกเกิดที่แม่อายุ 10-14 ปี จะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 21.1 และเด็กแรกเกิดที่แม่อายุ 15-19 ปี มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 13.9 นอกจากนั้นพบอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงยังไม่ควรนิ่งนอนใจในปัญหานี้

แพทย์ห่วงค่านิยมเสียตัวในช่วงเทศกาล

ศ.นพ. อรรณพ มองว่า ในโลกยุคใหม่วัยรุ่นมีช่องทางติดต่อสื่อสารที่เป็นอิสระ การที่ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐจะห้ามความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักวัยเจริญพันธุ์คงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งสำคัญต้องป้องกันความเสี่ยง 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม 2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่แน่ใจว่าคู่นอนมีโรคติดต่อ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เอดส์ ควรต้องป้องกันไว้ก่อน

อีกประเด็นที่น่าห่วงคือค่านิยมการเสียตัวช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างเช่น วันลอยกระทง ปีใหม่ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานคอนเสิร์ต ฯลฯ หนุ่มสาวมีโอกาสพบกันและอาจมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า บางคนใช้ “ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน” โดยขาดความเข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพไม่สูงเท่ากับวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่อื่นๆ “ที่สำคัญคือยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อรับประทานก่อนไข่ตกเท่านั้น”

“สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ถ้าไข่ตกเกิดขึ้นแล้ว การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคู่รักหนุ่มสาวที่คาดว่าจะมีเพศสัมพันธ์กันหรือมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำอยู่แล้ว จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินแต่ควรใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพและมั่นใจได้มากกว่า เช่น ใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการทานยาคุมกำเนิดด้วย”

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีข้อจำกัดเรื่องวินัยและเวลา

ปัจจุบัน มีวิธีการคุมกำเนิดและนวัตกรรมที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นการคุมกำเนิดแบบใช้ “ฮอร์โมน” ที่นิยมมาก คือ ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และยาฝังคุมกำเนิด นอกจากนั้น ยังมีการคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย เป็นต้น

นพ. อรรณพ อธิบายว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานทุกวัน จะช่วยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง นับเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องกินทุกวัน เดือนละ 21 วันจนถึง 24 วัน แล้วเว้นระยะช่วงประจำเดือนมา “บางคนจึงอาจหลงลืมรับประทานยาได้”

“ข้อจำกัดของยาเม็ดคุมกำเนิดก็คือ ต้องมีวินัยในการใช้สูงมาก ต้องรับประทานยาทุกวัน ในช่วงเวลาเดียวกันด้วยจึงมีประสิทธิภาพดี ที่สำคัญคืออาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะได้”

นวัตกรรม‘แผ่นแปะ’สะดวกและประสิทธิภาพสูง

อีกหนึ่งวิธีที่แพทย์แนะนำ คือการใช้ “แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด” เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สะดวกและช่วยป้องกันการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพเท่ายาเม็ดคุมกำเนิด เพราะเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เช่นเดียวกัน แต่มีข้อดีกว่าคือ 1 แผ่นสามารถปิดผิวหนังได้นาน 7 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนแผ่นใหม่ ไม่เป็นภาระให้ต้องทำทุกวัน

โดยแผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิดใช้ได้ 4 จุดบนร่างกาย คือ ต้นแขน, แผ่นหลัง, หน้าท้อง และสะโพก แปะสัปดาห์ละ 1 แผ่นต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ แนะนำให้เปลี่ยนตำแหน่งที่ใช้แปะเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว และไม่ต้องใช้ในสัปดาห์ที่ 4 โดยช่วงที่ไม่ได้แปะดังกล่าวประจำเดือนจะมาเป็นปกติ

“แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิดได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป ข้อดีคือใช้สะดวกกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด แต่ประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์สูงเหมือนกัน เมื่อแพทย์แนะนำคนไข้ใช้แล้วส่วนใหญ่จะรู้สึกพอใจ ถือว่าได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ”

ยาฝัง ยาฉีด ต้องพึ่งสถานบริการ

วิธีคุมกำเนิดอื่น อาทิ “ยาฉีด” ปัจจุบัน 1 เข็มป้องกันได้นาน 3 เดือน เหมาะสำหรับผู้ต้องการคุมกำเนิดเป็นเวลานาน แต่ต้องรับบริการฉีดที่สถานพยาบาล เช่น คลินิก โรงพยาบาล อาจส่งผลอาการข้างเคียงทำให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ หรือบางคนมีผลต่อน้ำหนักตัว

อีกแบบคือ “ยาฝัง” ใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขน มีทั้งคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี และ 5 ปี ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าวิธีอื่น ผลข้างเคียงคือระดูอาจมาผิดปกติ และเมื่อต้องการตั้งครรภ์ต้องกลับไปถอดยาฝัง ณ สถานบริการ

สำหรับ “ห่วงอนามัย” เป็นอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกแล้วออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ มีตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี ข้อดีคือไม่มีอาการข้างเคียงเหมือนกับยาฮอร์โมน แต่บางคนประจำเดือนมากหรือปวดระดู เมื่อต้องการตั้งครรภ์ต้องพบแพทย์เพื่อถอดห่วงออก

บทบาทในเชิงรุกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์(ไทย)

ศ.นพ. อรรณพ กล่าวอีกว่า การสร้างองค์ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะวัยรุ่นยังขาดความรอบรู้ด้านเพศวิถีและทักษะชีวิต บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง ปัญหาความพร้อมของสถานบริการเพื่อยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย ทั้งหมดนำไปสู่ปัญหาท้องก่อนวัยและการตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพ 

ดังนั้น สมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 30 ปี จึงมีบทบาทหลักส่งเสริมสุขภาพด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี พร้อมขับเคลื่อนอย่างมีพลัง ทำงานเชิงรุก 3 เรื่องหลัก คือ 1. การให้ความรู้กับประชาชนเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ 2. ส่งเสริมกิจกรรมและรณรงค์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณะร่วมกับกรมอนามัย อาทิ ฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ และ 3. การเป็นที่ปรึกษาภาครัฐและเอกชน ในเรื่องนโยบายอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี รวมทั้งประเด็นอื่นๆ อาทิ ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับนวัตกรรมทางการแพทย์และโลกยุคใหม่

ล่าสุดสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย)ได้จัดทำเว็บไซต์ www.Her-Choices.com เพื่อยกระดับการสื่อสารเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง นวัตกรรมใหม่ ยา และสถานบริการ โดยมีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ทั้งทางการแพทย์และเภสัชกรรม ถือเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

สร้างแนวคิด ‘วางแผนการเจริญพันธุ์’ เพื่ออนาคตที่ดี

ศ.นพ. อรรณพ กล่าวด้วยว่า แนวคิดที่อยากฝากไว้ก็คือการรณรงค์สร้างกระบวนทัศน์ใหม่เรื่อง “การวางแผนการเจริญพันธุ์” หรือ “Reproductive Life Planning” เปลี่ยนจากเดิมสมัยก่อนเรามุ่งการวางแผนครอบครัว หรือ “Family Planning” แต่วิถีใหม่นี้จะมีกรอบนิยามที่กว้างกว่านั้น ยกตัวอย่าง เมื่อคนหนุ่มสาวแต่งงานปกติจะคุมกำเนิดสักช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 4-5 ปี เป็นต้น แต่หลังจาก 4-5 ปีผ่านไปกลับปล่อยให้ตั้งครรภ์ทั้งที่ยังไม่พร้อม ขณะที่แนวทางใหม่เมื่ออยู่เป็นคู่กันแล้วต้องวางแผนว่า พร้อมจะมีลูกเมื่อไหร่หรือหลังมีลูกคนแรกจะเว้นระยะแค่ไหน เพื่อเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า

“แนวทางวางแผนการเจริญพันธุ์ หรือ Reproductive Life Planning นี้ คู่รักจะต้องร่วมกันคิดว่าระหว่าง 4-5 ปีที่คุมกำเนิดนั้นพวกเขาต้องทำสุขภาพร่างกายตัวเองให้แข็งแรง ตรวจเช็คว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร จะเป็นการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพจริงๆ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่อยากถ่ายทอดไปให้กับคนหนุ่มสาวที่คิดจะมีครอบครัวในอนาคต”

ทั้งหมด สะท้อนภาพรวมและทิศทางอนามัยการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยกำลังก้าวไปอย่างมีความหวัง….หลังจากนี้ต้องจับตาบทบาท ศ.นพ. อรรณพ ใจสำราญ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) ขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ปรับกระบวนทัศน์และค่านิยมสังคม นำไปสู่เป้าหมายการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img