วันพุธ, เมษายน 23, 2025
หน้าแรกPRศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ''Proud Nursing Home''ในวันที่ร่างกายโรยรา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ”Proud Nursing Home”ในวันที่ร่างกายโรยรา

การพาพ่อแม่ที่เจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองลำบากไปฝากไว้ที่ศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุ “อกตัญญู” ไหม ? เป็นคำถามที่หลายคนเฝ้าคิดทบทวนอยู่หลายครั้งหลายครา แล้วถ้าลูกๆจะดูแลเองจะทำมาหากินอย่างไร และต้องดูแลแบบไหน จะฝากพ่อแม่ไว้กับญาติ คนรู้จัก หรือจ้างคนแปลกหน้ามาดูแล หรือจะมอบภารกิจสำคัญนี้ให้ “ศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุ” ช่วยดูแล จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดูแลเองหรือไม่ ?  

พี่ชื่น ภญ. ภัคธีมา ปัญญวรญาณ  และ พี่นพสิทธิ์ โชติปรีชาธนรัตน์ สามีภรรรยา ซึ่งตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Proud Nursing Home  ย่านปากเกร็ด นนทบุรี เมื่อ 3 ปีก่อน เขาสองคนเคยมีคำถามเช่นนี้เช่นกัน แต่ด้วยครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ 2 คน คุณยายของพี่ชื่น กับคุณแม่ของพี่นพที่ป่วยติดเตียงหลังประสบอุบัติเหตุตกบันได ทำให้เขาคิดหนัก

พี่นพ เล่าว่า หลังคุณแม่ป่วยมา 1 ปี ในระยะท้ายรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังรักษามา 2 เดือนทางโรงพยาบาลให้รับไปดูแลเอง แต่คุณแม่ป่วยติดเตียง ไม่ตอบสนอง ต้องให้ออกซิเจน ให้อาหารทางสายยาง ต้องดูดเสมหะ พี่ก็เลยคิดว่าหากต้องดูแลเองทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ ตอนนั้นเราก็มีความคิดลบกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ แต่ก็จบลงด้วยการพาแม่มาดูแลที่ศูนย์ฯใกล้บ้านหลังคุยกับพี่น้อง เพราะไม่มีใครทำหัตถการเป็น ขณะเดียวกันคุณยายของพี่ชื่นที่อายุ 90 กว่าปีแล้ว ก็กำลังหาศูนย์ฯดูแลในเวลาเดียวกัน

หลังจากพาแม่มาให้ศูนย์ฯช่วยดูแล ก็เข้าออกไปเยี่ยมคุณแม่บ่อยๆ เห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ทำให้คิดว่าถ้าเราทำศูนย์ฯเองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เราจะพร้อมกว่านี้ อีกอย่างพี่ชื่นเองก็ร่ำเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมา ส่วนพี่เองก็ร่ำเรียนทางด้านสังคมวิทยา และต่างสนใจการบำบัดจิตใต้สำนึก (Hypnotherapy) ถึงกับร่ำเรียนอย่างจริงจังมาก่อนแล้วทั้งคู่ ก็น่าจะใช้ความรู้และทักษะที่มีในตัวทั้งหมดของทั้งสองคนมาทำศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ เราจึงออกแบบให้มีสิ่งที่เราอยากจะให้เป็นที่นี่

ศูนย์ฯ Proud Nursing Home ก็เลยเกิดขึ้น อย่างน้อยก็จะได้ดูแลคุณแม่และคุณยาย เราเช่าที่ดินเล็กๆใกล้บ้านทำศูนย์ฯ  “ตั้งใจว่าจะดูแลคุณแม่และผู้สูงอายุคนอื่นๆไปด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างที่เราอยากให้เป็น” มีกิจกรรมตอนเช้าที่สนาม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังเบาๆบ้าง มีห้องกลางไว้เล่นเกมส์ แล้วก็กำลังทำห้องคาราโอเกะเพิ่มเติม มีห้องอาหารกลางให้ผู้สูงวัยที่ไม่ต้องให้อาหารทางสายยางได้ออกมาทานร่วมกัน จะได้เคลื่อนไหวร่างกาย

ในวันที่ศูนย์ฯ Proud Nursing Home เป็นรูปเป็นร่าง คุณแม่ของพี่นพจะไม่ได้เข้ามาอยู่ เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนตอนอายุ 85 ปีก่อนเปิดศูนย์ฯได้ไม่นาน แต่ทุกอย่างถูกเซตอย่างที่ตั้งใจแต่แรก เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีส่วนคุณยายก็ได้มาอยู่ที่นี่ 4 เดือนก่อนที่ท่านจะจากไปในวัย 99 ปี

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินการมา พี่นพและพี่ชื่นนำเรื่องจิตบำบัดที่เขามีทักษะมาช่วยดูแลจิตใจผู้สูงอายุ พี่นพ ย้ำว่า ผู้สูงอายุต้องดูแลที่ใจเป็นสำคัญ เพราะเขาเป็นประมุขของบ้าน แต่กลับอยู่รั้งท้ายของบ้าน  ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจใดๆอีกต่อไป  เขามีความสำคัญน้อยลง บางบ้านแทบไม่ให้ความสำคัญกับเขาเลย และเขายังถูกริดรอนสิทธิ์ด้านร่างกาย ต้องพึ่งพิงคนอื่น เขามีความเครียดเป็นทุนเดิมจากการตัดสินชะตาชีวิตโดยคนอื่น และมาซ้ำด้วยความกลัวและกังวลต่อโรคภัยไข้เจ็บที่ตัวเองเป็นอยู่

ผู้สูงวัยมักมีความน้อยใจ  ช่างประชดประชัน เพื่อดึงความสนใจของลูกหลาน ให้ลูกหลานสนใจ ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกแตกต่างกันไป บางครั้งลูกหลานซื้ออะไรมาให้กินก็อาจบอกไม่อร่อย เพราะแท้จริงแล้วเขาต้องการสร้างความน่าสนใจ หรือบางคนเรียกหายากินตลอดเวลา  เพราะเขากลัวความเจ็บป่วย  

ความไม่เข้าใจจิตใจข้างในผู้สูงอายุ ทำให้บางครอบครัวมีความขัดแย้ง และกระทบกระทั่งที่มักเกิดขึ้นคือความไม่ลงรอยระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลานที่ดูแลใกล้ชิด  ส่วนลูกหลานที่อยู่ไกลนานๆมาเยี่ยมสักครั้งมักจะสร้างความพึงพอใจให้ผู้สูงอายุมากกว่า เป็นเพราะลูกหลานที่อยู่ใกล้ไม่ตามใจเขา แต่คนนานๆมาหามักจะตามใจเขานั่นเอง หรือบางคนสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ สมองถูกทำลาย ตรรกะเสียหายไปแล้ว แต่ลูกหลานไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้สูงอายุพูดหรือทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลในสายตาลูกหลานก็เกิดการกระทบกระทั่งกันในครอบครัว

การแก้ปัญหาสามารถทำได้ แต่ต้องเกิดจากความเข้าใจ ทั้งเข้าใจในบริบทของผู้สูงอายุที่เขาเครียดจากการถูกลดบทบาท และความสำคัญในบ้าน รวมถึงเครียดจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือจากภาวะสมองเสื่อมที่เขาเป็น “เขาคือคนป่วยคนหนึ่ง” ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เหตุผลกับเขาเหมือนเดิม หากเราต้องอยู่ด้วยกันกับผู้สูงอายุ พี่นพ แนะนำว่า ต้องเอาใจของเราเข้าไปใส่ในใจของเขา และต้องล้อไปกับเขา เหมือนเป็นพวกเดียวกับเขา แล้วพยายามเบี่ยงเบนให้เขาสนใจเรื่องอื่น เรียกว่า  “เปลี่ยนภาพ” ไม่นานเขาก็ลืม แต่ก็อาจกลับมาถามเราใหม่ในเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา แต่ขอให้คิดเสมอว่าสิ่งที่เขาถามเรา “เป็นคำถามแรกเสมอ”

การคลุกคลีกับผู้สูงอายุมาหลายคน พี่นพ บอกว่า เขาเคยต้องตอบคำถามซ้ำ 20 ครั้งภายในวันเดียว แต่ความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้อยู่กับผู้สูงอายุได้  “เราอย่าพยายามใช้เหตุผลของเราตัดสินเขา แต่ใช้ใจในการทำความเข้าใจ เพราะผู้สูงอายุในวันโรยราเป็นวัยที่ต้องการพักผ่อน เขาอาจไม่อยากทำอะไรบางอย่าง เช่น ไม่อยากทำกายภาพบำบัด หรือไม่อยากออกกำลังมากมาย แต่อาจจะอยากนอน ก็ต้องปล่อยเขา นั่นหมายความว่า “เรากำลังดึงเขาให้กลับเป็นประมุขของบ้านเหมือนเดิม กลับขึ้นไปเป็นยอดพีระมิด ไม่ใช่เป็นพีระมิดกลับหัว ที่เราอยู่บนยอดแต่เขากลับอยู่ล่างสุด อย่าลืมว่าเขาต่างมีที่มา มีประสบการณ์ที่สุดยอดกันมาทั้งนั้น เรากำลังดูแลประมุขของบ้าน ให้เขากำหนดชะตาชีวิตของตัวเองบ้าง ”

พี่ชื่น บอกในมุมของวิธีการดูแลที่มีผู้สูงอายุหลากหลายมาอยู่ที่นี่ว่า ผู้สูงอายุที่มาอยู่กับเราจะแตกต่างกันไป เราจะสังเกตพฤติกรรมของเขา และนำไปสื่อสารกับญาติค่อนข้างมาก เพื่อให้ญาติปรับทัศนคติ และความคิด เพราะเป้าหมายของเรา คือ ต้องการให้ลูกหลานอยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุบางคนก็มาอยู่กับเราไม่นาน เช่น 2-3 เดือน เพื่อมาฟื้นฟูร่างกายหลังออกจากโรงพยาบาล แต่บางคนก็อยู่เป็นปี

ผู้สูงอายุหลายคนมาอยู่ที่ศูนย์ฯ ด้วยการสังเกต และการพูดคุยกับผู้สูงอายุบ่อยๆของเรา ก็มาพบภายหลังว่าเป็นอัลไซเมอร์โดยที่ลูกก็ไม่รู้  เมื่อเราได้สื่อสาร และให้คำแนะนำไป ลูกก็ได้พาไปพบหมอ มีการปรับความคิดใหม่ เข้าใจแม่มากขึ้น และอยู่กับแม่ได้อย่างมีความสุข จากเดิมที่ยึดเหตุผลอย่างเดียวแล้วก็นำมาซึ่งความไม่พอใจและปัญหาครอบครัว  

บางครอบครัวมีลูกคนเดียว บางครอบครัวมีลูกหลายคนแต่ก็ใช่ว่าจะเติมเต็มใจผู้สูงอายุได้ สุดท้ายพวกเขาก็มาอยู่ที่ศูนย์ฯ พี่นพ บอกว่าผู้สูงอายุ บอกเราว่าเขาอยู่คนเดียวในบ้าน จริงๆมีลูกอยู่ด้วยนะ ดังนั้นสิ่งที่คนฟังอย่างเราคิด คือ อะไรบางอย่างเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้น บางบ้านก็มีการแยกครอบครัว ลูกหลานอยู่คนละที่ ตอนแม่อยู่บ้านลูกบางคนก็ทำได้แค่เอาของมาให้ บางคนอาจจะไม่ได้ลงจากรถเข้าบ้านหาแม่ด้วยซ้ำไป

แต่กลับมีบางสิ่งเปลี่ยนไปเมื่อพ่อแม่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ เราพบว่าลูกๆทั้งหมดผลัดกันมาหาแม่ทุกวัน และใช้เวลากับแม่นานกว่าตอนแม่อยู่ที่บ้าน เรามองว่า ความคิดของคนทั่วไปคือ บ้านเป็นที่ปลอดภัย แม่เป็นโรคเบาหวานก็มองเป็นเรื่องปกติ แต่พอแม่มาอยู่ศูนย์ฯกลับกลายเป็นว่าการเป็นโรคเบาหวานของแม่มันใหญ่มากขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น หรือตอนอยู่บ้านการคุยโทรศัพท์กับคนอื่นสำคัญกว่า แม่มาทีหลัง พอมาอยู่ศูนย์ฯแม่มาก่อน และใช้เวลากับแม่อย่างเต็มที่  บางคนเพิ่งมารู้ว่าทิ้งแม่ทางใจมานาน เพราะเวลาที่ให้กับพ่อแม่ไม่เคยมี เช้าก็ออกไปทำงาน กลับบ้านมืดค่ำ กลางวันไม่เคยโทรหาแม่ เป็นต้น สภาพแบบนี้เรียกว่าถูกทอดทิ้งทางใจ   

พี่นพ พยายามอธิบายให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายครอบครัว ว่า เวลาที่ลูกกลับมาจากที่ทำงาน หรือมาหาพ่อแม่ คนเป็นพ่อแม่จะถามคำแรกว่า กินข้าวหรือยังเสมอ แต่สำหรับลูกหลายคนไม่เคยถามคำถามนี้กับพ่อแม่  ไม่เคยมีเวลาสำหรับพ่อแม่ แต่มีเวลากับการสังสรรค์เพื่อนฝูง  จริงๆแล้วอาหารหรูหราที่ซื้อมาฝากพ่อแม่เทียบไม่ได้กับข้าวไข่เจียวที่พ่อแม่กับลูกได้กินด้วยกันพร้อมหน้า เพราะมันคือความอบอุ่น มันคือสิ่งที่ผู้สุงอายุต้องการเหนือสิ่งอื่นใด ผู้สูงอายุเขาเหมือนต้นไม้ที่ต้องค่อยๆรดน้ำ เขาถึงจะชุ่มชื้น ไม่ใช่ให้น้ำโครมเดียวจบ

เป็นคำตอบเพื่อบอกว่าการอยู่กับผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ การหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้สูงอายุทุกๆวัน ขณะที่เขายังมีลมหายใจสำคัญมากเพียงใด เพราะเวลาย้อนคืนไม่ได้

สำหรับการดูแลที่ศูนย์ฯซึ่งมีผู้สูงอายุอยู่ด้วยกัน 41 คน พี่นพ บอกว่า สิ่งที่เราปลูกฝังคนดูแล ก็คือ “เรามีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้สูงอายุ” ดังนั้นจะแยกภารกิจอย่างชัดเจน ผู้ดูแลทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่มีอยู่ 15 คน และมีนักกายภาพบำบัด 5 คน ไม่นับรวมคนที่ทำหน้าที่ซัพพอร์ตงานอื่นๆทั่วไป เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด

ทั้งนี้ศูนย์ฯ Proud Nursing Home  ไม่ได้รับผู้สูงอายุมาดูแลทุกคนที่ติดต่อมา โดยจะไม่รับผู้ป่วยจิตเวชที่คุมอาการไม่ได้ เพราะอาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และไม่รับผู้สูงอายุที่ติดเชื้อระยะแพร่กระจาย เช่น วัณโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด เป็นต้น ผู้สูงอายุที่มาใหม่จะถูกจัดให้อยู่ห้องดูอาการก่อน จากนั้นจึงจะนำไปพักร่วมกับคนอื่น

“อยู่บ้านหรืออยู่ศูนย์ฯกตัญญูทั้งคู่ ผู้สูงอายุอยู่บ้านดีที่สุด เพราะเป็นสถานที่ที่เขาคุ้นเคย ไม่ว่าเขาจะรู้เรื่องหรือไม่ก็ตาม แต่บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ลูกมีการแยกครอบครัวออกมา เกิดความเหินห่าง กอปรกับลูกหลานต้องทำมาหากิน ไม่พร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ หลายครอบครัวปล่อยผู้สูงอายุอยู่ลำพัง ซึ่งบอกได้ว่า มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก จากพฤติกรรมที่เขาเคยทำเป็นปกติ เช่น ปีนบันไดตัดต้นไม้  เป็นต้น เพราะร่างกายเขาไม่เหมือนเดิมแล้ว และบางคนก็โรยราจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  การดูแลที่ไม่สอดคล้องกับร่างกายของผู้สูงอายุอาจเกิดโทษมากกว่า ศูนย์ฯจึงเป็นกลไกเสริมให้ครอบครัวที่มีความจำเป็น เพื่อทำให้ผู้สูงอายุปลอดภัยมากขึ้น ”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img