“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ร่วมมือกับ “ยัง กู๊ด กัฟเวอร์แนนซ์” จัดกิจกรรม “Law ฟัง You” เปิดเวทีคุณภาพรับฟังและถกแนวคิด เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมมือกับ บริษัท ยัง กู๊ด กัฟเวอร์แนนซ์ จำกัด จัดกิจกรรม “Law ฟัง You” เปิดเวทีคุณภาพให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และยกระดับการโต้วาที เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายใหม่อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้เหัวข้อ การเปลี่ยนโทษทางอาญาบางตัวเป็นการปรับทางพินัย
การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าร่วมโครงการทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทั้งหมดจำนวน 150 คน ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มอาสาสมัครยุติธรรม กลุ่มประชาชน กลุ่มผู้แทนสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กลุ่มคณะผู้แทนและวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมพูดคุย สนทนา และถกปัญหากันอย่างสร้างสรรค์ โดยกิจกรรมเกิดขึ้น ดังนี้ การอธิบายร่างกฎหมายที่เกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดของ “หลักยุติธรรม 6 ประการ” การเปิดเวทีให้โต้วาทีในการแสดงความคิดเห็นทางกฎหมาย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลุ่มย่อยเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และเป็นส่วนหนึ่งของการปรับร่างกฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเยาวชน Young Good Governance
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า คำว่าอธิปไตยในประเทศไทยของเรานี้ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นแกนกลางในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีความเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนทุกคน และเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนเช่นกัน เพราะฉะนั้นแวลาจะทำการร่างกฎหมายใหม่ หรือทำกฎหมายใหม่ในแต่ละครั้ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังสเต็กโฮลเดอร์ หรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากประชาชนทุกภาคส่วน ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อที่จะได้ทำการออกกฎหมายให้มีความถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อใช้แก้ปัญหาได้จริง
สำหรับภาพบรรยากาศสำหรับกิจกรรมทั้งหมดที่ได้จัดขึ้น สามารถรับชมได้ทาง https://youtu.be/serB3qBB07Q และสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกิจกรรมครั้งต่อไปได้ที่ Facebook : Young Good Governance