“สมศักดิ์”ลุยใช้ กฎหมายJSOC เตรียมปล่อยนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ 29 คน พ่วงมาตรการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ สูงสุด 10 ปี
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 23 ม.ค. ที่ บริเวณด้านหน้าห้องประชุม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งภายหลังจากเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคมรวมถึงแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า วันนี้กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องเพศและความรุนแรง มีผลบังคับใช้ แต่การจะใช้บังคับได้ต้องมีกฎกระทรวงให้ครบถ้วน ซึ่งในการดำเนินการวันนี้ จึงเป็นการประชุมของคณะกรรมการ โดยมีตนในฐานะรัฐมนตรี เป็นประธาน (ชุดที่หนึ่ง) ส่วนคณะกรรมการอีกชุด คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการการกระทำความผิดซ้ำ หรือ คณะกรรมการตามมาตรา 16 (ชุดที่สอง) ซึ่งมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และคาดว่าคณะกรรมการชุดที่สอง จะประชุมเสร็จสิ้นภายในวันพรุ่งนี้(24 ม.ค.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามาถึงซึ่งกฎกระทรวงนี้จะต้องรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย ทั้งนี้ ถือว่ากฎหมาย JSOC ได้ใช้เวลาอย่างรวดเร็วเพียง 1 ปี 7 เดือนเท่านั้น
นายสมศักดิ์ เผยอีกว่า ส่วนผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย โดยจะมีการทยอยปล่อยตัวตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. – 31 ม.ค. ส่วนมาตรการที่จะใช้กับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษไปนั้น ยังคงต้องรอให้คณะกรรมการชุดที่สอง ร่วมประชุมกำหนดมาตรการกันก่อนเสนอศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่ง
นายสมศักดิ์ เผยถึงที่มาของการออกกฎหมาย JSOC ว่า เหตุแห่งการออกกฎหมายฉบับนี้เพราะเห็นว่าคดีสะเทือนขวัญมักเกิดขึ้นบ่อยและเกิดขึ้นเกือบทุกปี พอเกิดขึ้นก็มีเสียงโครมครามจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นก็เพื่อเตือนให้ภาครัฐหาทางแก้ไข ตนจึงเห็นว่าต้องมีกฎหมายสำคัญฉบับนี้เพื่อหยุดกลุ่มคนประเภท เช่น ไอซ์หีบเหล็ก, วันชัย แสงขาว เป็นต้น และเราค่อนข้างภาคภูมิใจที่ทำสำเร็จ ซึ่งถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ใช้ได้ผล 100 % จะไม่มีใครต้องเสียชีวิตอีก และอาจจะนำไปสู่แนวทางที่ไม่มีการใช้โทษประหารชีวิต เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังเผยอีกว่า ในบรรดาผู้ต้องขังทั้ง 29 รายที่จะพ้นโทษในช่วงเดือนมกราคมนั้น ตนยังได้พิจารณาขอให้มีการติดกำไล EM แก่ทุกราย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ทางศาลพิจารณามีคำสั่งจากคำร้องที่กระทรวงยุติธรรมส่งไป หากศาลพิจารณาเห็นด้วย ก็จะมีคำสั่งให้ผู้ต้องขังดังกล่าวติดกำไล EM นอกเหนือจากเพียงการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ทั้งนี้ ตนขอยกตัวอย่างว่า หากผู้ต้องขังได้รับการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษซึ่งมีระยะเวลาเฝ้าระวังสูงสุดถึง 10 ปี แต่หากระหว่างนี้ผู้ต้องขังมีพฤติกรรม หรือพฤตินิสัยที่ดี ไม่มีความเสี่ยงกระทำความผิดในลักษณะเดิมซ้ำ ทางเราก็จะเสนอต่ออัยการเพื่อเสนอขอให้ศาลมีคำสั่งลดระยะเวลาการใช้มาตรการ และรวมไปถึงอาจขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งการใช้มาตรการดังกล่าวได้.