‘ลุงป้อม’ ปัดตอบปมขับ ‘กลุ่มธรรมนัส’ พ้น พปชร. ขณะ ‘ชัยวุฒิ’ ชี้ พรรคแตก เพราะคนนอกสั่งการครอบงำ สร้างเงื่อนไขดูดงูเห่า ลั่น จากนี้ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน
วันที่ 6 ก.ย.67 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่สมัยสามัญ พรรคพลังประชารัฐ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่า จะดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า แต่ย้ำกับสื่อว่า เรายึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นลำดับแรก จากนั้น พลเอกประวิตรก็ขึ้นรถกลับทันที
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ว่า ไม่ได้ถือเป็นการรีแบรนด์ เพียงแต่ทำให้ชัดเจนในแนวทางการทำงานมากขึ้น ส่วนสมาชิกที่พร้อมสู้ไปกับพรรค ก็มีความตั้งใจทำงานทางการเมือง คนที่ไม่อยู่ก็ออกไปแล้ว ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้ทำ ส่วนที่ก่อนหน้านี้พรรคย้ำถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ภาพที่ปรากฏออกมาก็เป็นเรื่องมาโดยตลอดนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมือง มีหลายคนหลายกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน ก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ไม่อยากให้มองที่พรรค เพราะพรรคอื่นก็มีปัญหาแบบนี้ อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งรอบนี้ก็ไม่ได้เกิดจากภายในพรรคอย่างเดียว แต่เกิดจากคนภายนอกเข้ามาครอบงำสั่งการ
เมื่อถามว่าคนที่ครอบงำ หมายถึงพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการจัดตั้งรัฐบาล มีคนภายนอกเข้ามาสั่งการครอบงำในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยก ภาษาการเมืองเขาเรียกว่าดูดไหม “ดูดทำงูเห่า” แบบนี้มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา ทำให้เกิดปัญหากับพรรคพลังประชารัฐ แต่มันผ่านไปแล้วขอไม่พูดถึง ขอเดินหน้าทำงานต่อไป
ส่วนที่กลุ่มร้อยเอกธรรมนัส โหวตเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระ 3 ทั้งที่ สังกัดพรรคประชารัฐที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะมันผ่านไปแล้ว ส่วนเรื่องนี้จะเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้ถูกขับออกจากพรรคหรือไม่ นายไชยวุฒิกล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น ให้ถึงจุดนั้นค่อยว่ากัน และยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องการขับออกจากพรรค ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ
ส่วนท่าทีที่ขึงขังของพลเอกประวิตรในการกล่าวบนเวที เป็นการส่งสัญญาณถึงใครหรือไม่ นายชัยวุฒิหัวเราะ บอก ไม่ทราบ ไม่รู้จะตอบยังไง เมื่อถามต่อว่า ท่าทีของกลุ่มร้อยเอกธรรมนัส อยากให้พรรคขับออก นายชัยวุฒิ ย้ำว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เรื่องของกลุ่ม สส. ที่แยกออกไป รอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะนี้พรรคยังไม่มีท่าที ยังมีการพูดคุย ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ไปก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาแตกหักกัน
เมื่อถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการแก้แค้นของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อพลเอกประวิตร หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ
“ต้องไปถามท่าน ว่าท่านแค้นแค่ไหน ผมตอบแทนไม่ได้ แต่การเมืองอย่าไปพูดเรื่องแค้นหรือความโกรธเคืองอะไรครับ ต่างคนต่างมาทำหน้าที่ สถานการณ์การเมืองมันก็เปลี่ยนไปตลอด เห็นไหมในวันนึง คนที่เหมือนจะไม่ถูกกันก็ยังมารักกันเลย ผลประโยชน์ลงตัวก็ทำงานด้วยกันได้”
ส่วนถ้ามีโอกาสเคลียร์ใจจะสามารถกลับมาร่วมรัฐบาลด้วยกันได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ เมื่อถามว่า การที่ร้อยเอกธรรมนัส ออกจากพรรค เหมือนพลเอกประวิตรเสื่อมอำนาจจนเสียการปกครอง นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกัน รอดูกันเองแล้วกัน แต่ส่วนตัวมองว่าพลเอกประวิตรก็ยังเป็นพลเอกประวิตรคนเดิม ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานขับเคลื่อนต่อไป ใครจะอยู่ใครจะไป เป็นเรื่องของคนภายนอก บังคับเขาไม่ได้ แต่เชื่อว่าอุดมการณ์หลักของพรรคในการทำงานเพื่อประชาชนมีชีวิตอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจทันสมัย ที่สำคัญปกป้องสถาบัน ทำให้บ้านเมืองมั่นคง เป็นแนวทางหลักของพรรคที่จะทำต่อไป
เมื่อถามอีกว่า มองอย่างไรกับ ที่สื่อตั้งฉายาว่าเป็น ครม.สืบสันดาน นายชัยวุฒิ กล่าวว่าไม่รู้ สื่อเป็นคนตั้ง พร้อมย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ซึ่งการประชุมพรรคก็แสดงว่าเราพร้อมที่จะทำงาน มีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยืนยันกับสมาชิกพรรคว่า จะทำให้ดีที่สุด ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลมีหลายช่องทางอยู่แล้วทั้งในสภาผ่านการอภิปราย ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ การตรวจสอบด้านกฎหมาย ถ้าใครทำผิดทุจริต เราก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกันก็ไม่ต้องเกรงใจกัน ทำได้เต็มที่เลย
ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ ออกตัวพร้อมหัวเราะว่า ไม่ได้เดือด แค่ทำให้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เมื่อก่อนเกรงใจกันเพราะอยู่ด้วยกัน ทีนี้ก็ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว
ส่วนที่พรรคประชาชนประกาศต้อนรับลุงป้อมร่วมเป็นฝ่ายค้าน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อพรรคไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ถือเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เป็นไปตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ส่วนจะทำงานแบบไหนก็ต้องพูดคุยกัน อย่างน้อยการอภิปรายในสภาก็ต้องตกลงเรื่องเวลา ส่วนการลงมติเป็นเรื่องของแต่ละพรรคมีทิศทางอยู่แล้วว่าจะลงมติอย่างไร คงไม่ต้องตามกันทุกเรื่อง