“พูนพงษ์” ชี้เทรนด์อาหารจากพืชทั่วโลกมาแรง มูลค่าตลาดสูงถึง 77,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี68 เพิ่มเป็น 161,900 ล้านเหรียญสหรัฐปี 73 แนะผู้ประการไทยใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าสินค้า-ต่อยอดธุรกิจ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 มีมูลค่าการส่งออก 2,684.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งเกิดจากปริมาณการส่งออกมันเส้นที่ลดลงเป็นหลัก
โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ (1) แป้งมันสำปะหลังดิบ 1,401.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.21 (2) แป้งมันสำปะหลังแปรรูป 795.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.34 (3) มันเส้น 431.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 61.77 (4) มันสำปะหลังอัดเม็ด 7.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 70.66 (5) หัวมันสำปะหลังสด 0.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.57 และ (6) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ 47.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 33.98 (ที่มา: คิดค้า.com)
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรีย และคองโก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง จากการที่จีนลดการนำเข้าเนื่องจากจีนมีผลผลิตข้าวโพดในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลังสามารถเป็นสินค้าทดแทนกัน และนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศของจีน แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังและนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้มันสำปะหลังช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ไปจนถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัยในด้านพลาสติกชีวภาพและอาหารแห่งอนาคต รวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะที่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ภายใต้แนวคิด BCG (Bio-Circular-Green) ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ซึ่งไทยมีแหล่งวัตถุดิบหลักอย่างมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ สามารถนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพได้ อีกทั้งมีความพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรม มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคล รวมถึงมีการสนับสนุนจากภาครัฐ
ซึ่งพลาสติกชีวภาพที่ได้จากมันสำปะหลังสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่คงทนอยู่ได้นานหลายร้อยปี ไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เมื่อเทียบกับการผลิตพลาสติกทั่วไป ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจาก มันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ หรือการเกษตร ผลิตเป็นถุงชอปปิ้งภาชนะใส่อาหาร ช้อนส้อม หลอด ฟิล์มคลุมดิน เป็นต้น
ทั้งนี้มูลค่าตลาดของพลาสติกชีวภาพทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 96,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2576 จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงถึง 1,353,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา: www.statista.com) สอดคล้องกับเทรนด์อนาคตในเรื่องวิกฤติโลกร้อน สุขภาพและสุขอนามัย ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันต่างหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ได้แก่ แป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified Starch) สามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพ ตามกระแสสังคมที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเป็นยา สังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์อาหารจากพืช (Plant-Based Food) โดยใช้เป็นส่วนผสมพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช และอาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) ที่ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ด้วยการเสริมคุณสมบัติในการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ
โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารจากพืชทั่วโลก จะมีมูลค่าถึง 77,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และจะเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาดกว่า 161,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 สำหรับอาหารฟังก์ชัน คาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 268,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันที่มีการเสริมวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน กรดอะมิโน โพรไบโอติก พรีไบโอติก และใยอาหาร เพื่อเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน (ที่มา: www.statista.com)
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านอาหารที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ คือ บรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ (Edible Packaging) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมองหาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น บรรจุภัณฑ์ ทานได้ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ผลิตมาจากโพลิเมอร์ธรรมชาติ (อาทิ เจลาติน และกลูเตน) หรือแป้ง และไขมัน ซึ่งสามารถใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ โดยตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 711.09 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 1,193.98 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2575 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 6.02 โดยมีสหภาพยุโรปเป็นตลาดอันดับหนึ่ง (สัดส่วนร้อยละ 37.49 ของมูลค่าตลาดโลก) (ที่มา: https://www.fortunebusinessinsights.com/)
โดยมันสำปะหลังไม่ได้เป็นเพียงพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่ยังเป็นความหวังสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ด้วยศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ และการสร้างสรรค์อาหารแห่งอนาคต ทำให้มันสำปะหลังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลังชั้นนำของโลก มีความพร้อมในทุกมิติ ตั้งแต่วัตถุดิบคุณภาพสูง ห่วงโซ่การผลิตที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้มันสำปะหลังไม่ได้เป็นเพียงพืชสำหรับวันนี้ แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับวันข้างหน้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ไม่เพียงแค่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นต้นแบบของการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศ เกษตรกร และธุรกิจไทยอีกด้วย
ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและวิจัย เพื่อให้เกิดผลผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งขณะนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้ฑูตพาณิชย์ เร่งหาผู้นำเข้ามันสำปะหลังรายใหม่จากทั่วโลก โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นส่วนผสม โดยพาผู้นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาดูวัตถุดิบต้นน้ำในประเทศไทย