‘ทักษิณ’ ถึง บรูไน แล้ว หลังขอออกนอกประเทศครั้งที่ 2 ร่วมประชุมอาเซียน ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน 18-19 ก.พ.
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ได้โพสต์ภาพขณะเข้าเฝ้าฯ หารือ สมเด็จพระราชาธิบดีบรูไน ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำอาเซียนที่อาวุโสที่สุด
‘อันวาร์’ ควง ‘ทักษิณ’ บินบรูไน เข้าเฝ้าฯพระราชาธิบดี หารือสถานการณ์เมียนมา ห่วงยาเสพติด – แก๊งคอลเซนเตอร์
นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย โพสต์ภาพ การเข้าเฝ้าหารือกับ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ของประธานอาเซียนร่วมหารือด้วย

นายอันวาร์ ระบุว่า เป็นการประชุมกลุ่มที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการที่มีประสิทธิผลอย่างมาก โดยมี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ร่วมกับเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฯ แห่งบรูไนดารุสซาลาม
ซึ่งเราได้หารือร่วมกัน ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำอาเซียนที่มีอาวุโสสูงสุดและทรงมีประสบการณ์อันล้ำค่ามากมายที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างกว้างขวาง
สำหรับประเด็นในเมียนมาร์ มีมุมมองว่า แม้ ฉันทามติ 5 ประการจะยังมีผลผูกพัน
แต่ก็ไม่ควรละเว้นความพยายามใดๆ ที่จะดำเนินการร่วมกันต่อไปกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

นอกจากนี้ เรายังมีความกังวล ในปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจผิดกฎหมายที่เติบโต มีการค้ายาเสพติดเป็นหลัก ควบคู่กับการค้ามนุษย์และการฉ้อโกงหลอกลวงอย่างแพร่หลาย
โดยเราได้หารือถึงแนวทางที่ดีที่สุดในการทำงานเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมาและให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเราได้ดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า ควรดำเนินการตามที่ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ได้เสนอไว้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่ลังกาวี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยเร็ว

ส่วนกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เราตกลงกันว่าควรมีความคืบหน้าทางการทูตในพหุภาคีให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังให้มีการเจรจา จัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
และเน้นย้ำอย่างจริงจังถึงการหาแนวทางที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ให้มากขึ้น รวมถึงความจำเป็นของการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อธุรกิจ
ซึ่งแรงผลักดันเชิงกลยุทธ์ในเรื่องนี้คือการส่งเสริมการไหลเข้าของเงินทุนอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการเติบโตภายในภูมิภาคที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

นายอันวาร์ ยังระบุถึง การหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของ ‘สกุลเงินดิจิทัล’ ว่า เราเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งองค์กรที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น หรือองค์กรที่ให้บริการเกี่ยวกับการทำงานของระบบบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ( Blockchain Infrastructure ) ที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความสามารถในการเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคด้วย