วันพฤหัสบดี, เมษายน 3, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEคดีตัวอย่าง“นอมินี”ต่างด้าวเจอคุก 10 ปี จี้“ก.พาณิชย์”เข้มงวดจดทะเบียนบริษัท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คดีตัวอย่าง“นอมินี”ต่างด้าวเจอคุก 10 ปี จี้“ก.พาณิชย์”เข้มงวดจดทะเบียนบริษัท

เปิดข้อกฎหมาย “นอมินี” ถือหุ้นเเทน “ต่างชาติ” คุกสูงสุด 3 ปี-ปรับ 1 ล้านบาท ยกคำพิพากษาปี 2567 “ดีเอสไอ” ลุยดำเนินคดี จำคุก “23 นอมินีบริษัทภูเก็ต” ขณะที่ “อัยการ” จี้ “กระทรวงพาณิชย์” เข้มงวดจดทะเบียนบริษัท มีวิธีตรวจสอบได้ เเต่ไม่ยอมทำ

เเหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นกรณีการถือหุ้นเป็นนอมินีต่างชาติ ในส่วนกรรมการ และผู้ถือหุ้น จะมีความผิดอย่างไร ตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542

โดยมาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยแสดงออกว่า เป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดย หลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 เเสนบาท-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย

หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษ ปรับวันละ 1-5 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

โดยขอยก ตัวอย่างเมื่อปี 2567 “ดีเอสไอ” เผยแพร่คำพิพากษา จำคุก 23 ผู้ต้องหานอมินี ปรับคนละ 200,000 บาท สั่งให้จดทะเบียนเลิกบริษัททันที

คดีนี้กองคดีความมั่นคงดีเอสไอ ได้ทำการเข้าตรวจค้นสำนักงานกฎหมายและบัญชีพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

มีพฤติการณ์กระทำการเป็นเครือข่ายจดทะเบียนบริษัท “นอมินี” ให้ชาวต่างชาติ อันเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เป็นคดีพิเศษที่ 295/2565 โดยมีนิติบุคคลต้องสงสัย กว่า 60 บริษัท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการค้าขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้น แทนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แบบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายให้ชาวต่างชาติ สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้

ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมกว่าร้อยละ 10 ของราคาประเมิน หรือคิดเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านบาทต่อปี ต่อมามีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งบุคคลธรรมดาชาวไทย ชาวต่างด้าว นิติบุคคลไทย และนิติบุคคลต่างด้าว รวมทั้งสิ้น 23 ราย

พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ตามสำนวนการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมา ศาลอาญาได้พิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 23 ราย ในความผิดฐานร่วมกันให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ

พิพากษาจำคุก 10 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 5 ปี ประกอบกับจำเลย ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ปรับรายละ 2 เเสนบาท ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี และให้จดทะเบียนเลิกบริษัท หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ชำระค่าปรับล่าช้าวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง

ส่วนกรณีที่มีการใช้บริษัทนอมินีต่างชาติก่อสร้างเเล้วเกิดเหตุตึกถล่ม ถ้ามองในมุมการดำเนินคดีอาญาก็จะเป็นเรื่องประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตายเเละได้รับบาดเจ็บสาหัส และ “กรรมการบริษัท” จะต้องรับผิดทางอาญา รวมถึงเรื่องการละเมิดทางเเพ่งด้วย

ส่วนเรื่องประกันจะจ่ายค่าเสียหายต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์อีกทีว่าระบุอย่างไร เพราะบางที่ถ้าก่อสร้างผิดจากเเบบ หรือมีการประมาท เขาก็ไม่รับผิด ก็จะต้องไปฟ้องร้องกันอีก

ชี้ผู้ถือหุ้น “นอมินี” ให้ต่างด้าว โทษสูง 3 ปี

ส่วนประเด็นผู้ถือหุ้นจะมีความผิดหรือไม่ โดยหลักเรื่องการรับผิดทางอาญา ผู้ถือหุ้นไม่เกี่ยว เเต่โดยส่วนใหญ่ในบางบริษัทผู้ถือหุ้นก็จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจด้วย

เเต่ถ้าเป็นเพียงผู้ถือหุ้นเฉยๆ ที่เป็นข่าวว่ามีคนไทยบางรายไปถือหุ้นเเต่ถ้าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจก็จะไม่ผิดฐานประมาทฯ เเต่อาจจะไปผิดฐานนอมินีให้ต่างด้าวซึ่งมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนคดีที่ดีเอสไอยกตัวอย่างมาจำคุก 10 ปี เป็นการกระทำหลายกรรม

จี้ “พาณิชย์” ตรวจสอบ บริษัทนอมินีต่างด้าว

สำหรับการตรวจสอบ การถือหุ้นนอมินีสามารถตรวจสอบง่ายมาก เเต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ทำเอง เรื่องนี้สังเกตได้ง่าย บริษัทที่ไม่ใช่นอมินี ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ “คนไทย” เป็น “กรรมการผู้มีอำนาจ”

ไม่ใช่ให้ “ต่างชาติ” เป็น “กรรมการผู้มีอำนาจ” เเต่กระทรวงพาณิชย์ดูเเต่สัดส่วนปริมาณผู้ถือหุ้นอย่างเดียวไม่ได้ ควรต้องดู “สถานะการเงินผู้ถือหุ้น” ด้วย เเต่กลับไปให้จดทะเบียนง่ายเงินไป

จริงๆ เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการชุดใหญ่ที่มี “รัฐมนตรี” เป็นประธานเอง คอยกำกับตรวจสอบ เเต่กลับไม่ตรวจสอบเอง ทั้งที่ตรวจสอบง่าย หลังจากนี้ต่อไป ควรต้องวางหลักเกณฑ์ใหม่ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img